ไลฟ์สไตล์

'เนื้องอกมดลูก' โรคไม่ร้ายแรงแต่พบบ่อย รู้ไว รักษาเร็ว

'เนื้องอกมดลูก' โรคไม่ร้ายแรงแต่พบบ่อย รู้ไว รักษาเร็ว

25 มี.ค. 2567

'เนื้องอกมดลูก' ส่วนใหญ่เป็นเนื้องอกชนิดที่ไม่ร้ายแรง พบมากในวัยเจริญพันธุ์และจะพบน้อยลงหลังเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ส่วนมากผู้ป่วยมักไม่มีอาการ แต่ในบางคนอาจมีอาการ

เนื้องอกมดลูก คือ การเจริญเติบโตผิดปกติของเซลล์กล้ามเนื้อ มดลูก ส่งผลให้มดลูกมีขนาดโตขึ้น ถึงแม้ว่าเนื้องอกมดลูกส่วนใหญ่จะเป็น เนื้องอก ชนิดธรรมดา ไม่ใช่เนื้อร้าย แต่หากละเลยการรักษา อาจส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้หญิงได้ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร? ว่าเรามีเนื้องอกมดลูก และมีวิธีการรักษาอย่างไร?

พญ.ศรีสุภา เลาห์ภากรณ์

 

พญ.ศรีสุภา เลาห์ภากรณ์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านสูติ-นรีเวช มะเร็งวิทยานรีเวชและการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช โรงพยาบาลรามคำแหง อธิบายว่า เนื้องอกมดลูก ส่วนใหญ่เป็น เนื้องอก ชนิดที่ไม่ร้ายแรงของกล้ามเนื้อ พบได้บ่อยในสตรีที่อายุ 30-50 ปี ถึงประมาณร้อยละ 84 ซึ่งผู้หญิงที่แต่งงานแล้วแต่ไม่มีบุตรมีแนวโน้มที่จะพบโรคนี้ได้บ่อยขึ้น พบมากในวัยเจริญพันธุ์และจะพบน้อยลงหลังเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ส่วนมากผู้ป่วยมักไม่มีอาการแต่ในบางคนอาจมีอาการ เช่น ประจำเดือนออกมาก ปวดท้องน้อย มีบุตรยาก หรือมีอาการกดเบียดจากก้อน เนื้องอก เช่น ปัสสาวะบ่อย ท้องผูก ไตบวมน้ำ หรือลำไส้อุดตัน เป็นต้น

 

จะรู้ได้อย่างไรว่ามี เนื้องอกมดลูก

การวินิจฉัยสามารถทำได้โดยการตรวจภายใน (pelvic examination) และใช้การตรวจเพิ่มเติม เช่น อัลตร้าซาวด์ หรือเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์, MRI (Magnetic Resonance Imaging) หรือการฉีดสีโพรงมดลูก (Hysterosalpingography)

 

 

เนื้องอกมดลูก รักษาอย่างไร?

 

  1. ผู้ที่ไม่มีอาการและอาจอยู่ในช่วงใกล้หมดประจำเดือน หรือตรวจพบในวัยหมดประจำเดือน อาจใช้การตรวจติดตามอาการเป็นระยะ
  2. รักษาด้วยยา ใช้ในกลุ่มที่มีอาการประจำเดือนออกผิดปกติ
  3. อุดหลอดเลือดมดลูก เป็นทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยที่มีข้อห้ามในการผ่าตัดหรือมีประจำเดือนออกมากปวดท้องประจำเดือนจาก เนื้องอก กล้ามเนื้อ มดลูก จะให้ผลการรักษาที่ดีในการลดอาการที่เกิดจาก เนื้องอกมดลูก
  4. การรักษาด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงโฟกัสต่อเนื้อเยื่อเป้าหมายโดยใช้ MRI (Magnetic Resonance-Guided Focused Ultrasound Surgery, (MRgFUS) เป็นตัวกำหนดตำแหน่งที่แน่นอน เพื่อไม่ให้คลื่นเสียงความถี่สูงไปทำลายเนื้อเยื่อปกติที่อยู่ข้างเคียง 
  5. การผ่าตัดรักษา เป็นวิธีการรักษาที่ตรงจุดได้ผลดี

 

 

การเลือกการรักษาด้วยการผ่าตัด

 

  1. การผ่าตัดมดลูก เหมาะสำหรับสตรีที่มีบุตรเพียงพอ หรือไม่ต้องการมีบุตรแล้วหรือมีลักษณะที่สงสัยมะเร็ง มดลูก หรือในสตรีที่มีความเสี่ยงต่อมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกสามารถเลือกการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง ผ่าตัดผ่านกล้อง หรือ ผ่าตัดผ่านทางช่องคลอด ขึ้นอยู่กับขนาด เนื้องอก และความเชี่ยวชาญของแพทย์ผู้ผ่าตัด
  2. การผ่าตัดเฉพาะเนื้องอกมดลูก โดยเหลือส่วนที่เป็น มดลูก ไว้ เพื่อผลของการมีบุตรในอนาคต หรือในสตรีที่ต้องการเก็บ มดลูก ไว้ วิธีการผ่าตัดเฉพาะ เนื้องอก สามารถทำได้ทั้งการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง การผ่าตัดส่องกล้องทางหน้าท้อง

 

ข้อดีของการผ่าตัดส่องกล้องทางหน้าท้อง หรือการผ่าตัดส่องกล้องโพรงมดลูก สำหรับเนื้องอกชนิดที่อยู่ในโพรงมดลูก

 

การผ่าตัดเฉพาะเนื้องอกผ่านกล้อง มีการศึกษาแบบ meta-analysis เปรียบเทียบการผ่าตัดเนื้องอกกล้ามเนื้อออกแบบเปิดหน้าท้องเทียบกับการผ่าตัดผ่านกล้องพบว่า การผ่าตัดผ่านกล้องสามารถลดปริมาณการเสียเลือด การลดลงของความเข้มข้นเลือดอาการปวดหลังผ่าตัดและไม่มีความแตกต่างในภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด การกลับเป็นซ้ำและการตั้งครรภ์หลังผ่าตัดอย่างไรก็ตามการผ่าตัดผ่านกล้องย่อมเป็นไปตามข้อบ่งชี้โดยพิจารณาจากขนาดตำแหน่งจำนวนก้อนเนื้องอกรวมถึงประสบการณ์และความชำนาญของแพทย์ผู้ผ่าตัดด้วย

 

แม้ว่า “เนื้องอกมดลูก” จะไม่ได้เป็นอันตรายมากนักแต่ก็มีผลโดยตรงต่อการตั้งครรภ์ การตรวจภายในเป็นประจำในการตรวจสุขภาพประจำปีและปรึกษาแพทย์ก่อนวางแผนตั้งครรภ์จะช่วยลดความเสี่ยงได้ ปัจจุบันทางการแพทย์มีเครื่องมือที่ช่วยในการวินิจฉัยและเฝ้าติดตามดูขนาดของก้อนเนื้องอกได้อย่างแม่นยำถูกต้อง ทำให้สามารถตรวจพบและรักษาได้ทันที