ไลฟ์สไตล์

รู้จัก "โรคสมองน้อยฝ่อ" โรคสูญเสียการทรงตัว มีอาการแบบไหน ป้องกันอย่างไร

รู้จัก "โรคสมองน้อยฝ่อ" โรคสูญเสียการทรงตัว มีอาการแบบไหน ป้องกันอย่างไร

29 มี.ค. 2567

รู้จัก "โรคสมองน้อยฝ่อ" หรือ "ภาวะกล้ามเนื้อเสียสหการ" โรคสูญเสียการทรงตัว มีอาการแบบไหนบ้าง และจะป้องกันอย่างไรไม่ให้เป็น

"โรคสมองน้อยฝ่อ" เป็นอีกโรคเกี่ยวกับสมองที่เราอาจจะไม่ค่อยคุ้น เพราะโรคนี้เป็นโรคทางพันธุกรรม มีโอกาสเป็นได้น้อยมาก ซึ่งล่าสุดไพบว่าคนในวงการบันเทิงอย่าง นภาดา สุขกฤต หรือ แป๋ว เจ้าของเพลง i will survive ฉบับอีสาน ป่วยด้วยโรคนี้ จนทำให้สูญเสียการทรงตัวและการพูด

 

 

"โรคสมองน้อยฝ่อ" หรือ "ภาวะกล้ามเนื้อเสียสหการ" เป็นโรคที่ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการเคลื่อนไหว เป็นโรคทางพันธุกรรม มีโอกาสเป็นได้น้อยมาก อีกปัจจัยที่มีส่วนในการเกิดโรคนี้คือ การใช้ชีวิตประจำวัน ที่อาจส่งผลเสื่อมต่อสมองน้อยด้วย ทั้งการชอบทำงานหนักเกินไป นอนไม่เป็นเวลา ทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่ หรือไม่ออกกำลังกาย สามารถเป็นได้ตั้งแต่อายุ 18 ปี จนถึงผู้สูงอายุ

 

 

หน้าที่ทางสรีรวิทยาของ สมองน้อย​ ส่วนใหญ่เพื่อรักษาสมดุลของร่างกายและประสานงานการเคลื่อนไหว รอยโรคในสมองน้อยทำให้เกิดภาวะ hypotonia ของกล้ามเนื้อ ส่งผลให้แขนขาอ่อนแอ และประเมินระยะรวมถึงกะระยะทางผิดเพี้ยนไป การควบคุมแรงควบคุมน้ำหนักผิดปกติไป และแขนขาสั่นผิดปกติ

 

 

อาการทางคลินิกของ โรคภาวะสมองน้อยฝ่อ​ มีหลายประเภท อาการหลักคือ เดินไม่นิ่ง เคลื่อนไหวผิดปกติ จับสิ่งของไม่ถนัด​ ไม่มีแรง พูดไม่ชัด มึนงง หนักหัว ปวดศีรษะ เห็นภาพซ้อนหรือสูญเสียการมองเห็นในผู้ป่วยบางราย กลืนลำบาก สำลักเมื่อดื่มน้ำ สั่นเวลาเขียนหนังสือ ขับถ่ายปัสสาวะ-อุจจาระ​ลำบาก ดูแลตัวเองไม่ได้ เป็นต้น

 

 

"ภาวะกล้ามเนื้อเสียสหการ" เป็นภาวะของกล้ามเนื้อที่ทำงานไม่ประสานงานกัน ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ตามต้องการ คนส่วนใหญ่มักนึกถึงอาการเซในขณะลุก เดิน หรือนั่งเพียงอย่างเดียว แต่อาการนี้ยังรวมไปถึงกลุ่มโรคที่เกิดขึ้นกับระบบประสาท ซึ่งอาจส่งผลให้การทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันยากลำบากขึ้น เช่น เขียนหรืออ่านหนังสือไม่ได้ พูดไม่ชัด กลืนอาหารไม่ได้ โดยทั่วไปไม่ได้เป็นอาการเฉพาะเจาะจงของโรคใดโรคหนึ่ง อาจเป็นได้ทั้งภาวะชั่วคราวหรือถาวร

 

 

ด้าน ศ.นพ.ประเสริฐ บุญเกิด ได้กล่าวถึงวิธีสังเกตอาการขั้นต้นว่า ถ้ามีอาการเดินเซ ปากสั่น มือสั่น ไม่ว่าจะเป็นอาการใดอาการหนึ่ง หรือเป็นทั้งหมด ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า นั่นคือ อาการของ "โรคสมองน้อยฝ่อ" และควรรีบไปพบแพทย์ทันที แม้ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่ทำให้โรคหายขาดได้ แต่หากตรวจพบเร็ว ก็อาจช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์สมองได้

 

 

สำหรับวิธีชะลอความเสื่อมของ เซลล์สมอง คือ การทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ได้รับสารอาหารในปริมาณที่เหมาะสมตามวัย การพักผ่อนที่เพียงพอ และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์

 

 

ข้อมูล : Pobpad / เพจ บ้านหมอตั้ม ฝังเข็ม-จัดกระดูก / ramachannel