ไลฟ์สไตล์

อ้วนไหม? เช็กจากค่า BMI หาก 'น้ำหนักเกิน' เสี่ยง หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน

อ้วนไหม? เช็กจากค่า BMI หาก 'น้ำหนักเกิน' เสี่ยง หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน

05 เม.ย. 2567

แพทย์เฉพาะทางเตือนสายกินอย่าชะล่าใจ 'น้ำหนักเกิน' ทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ เพราะร่างกายต้องแบกรับน้ำหนักมากกว่าคนปกติ ทั้งยังเสี่ยง 'โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน'

หมอนรองกระดูกสันหลัง ทำหน้าที่ประคองและกระจายแรงในการรับน้ำหนักของ กระดูกสันหลัง โดยตรง ลักษณะคล้ายกับยางรถยนต์ เพราะฉะนั้น ปัจจัยเสี่ยงหลักๆ จะเน้นไปในเรื่องของการรับน้ำหนัก และความเคลื่อนไหวที่รุนแรงและรวดเร็วซึ่งจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้หมอนรองกระดูกสันหลังแตกและเคลื่อนออกมา เพราะน้ำหนักตัวที่มากจะส่งผลให้กระดูกสันหลังต้องแบกรับน้ำหนักมากตามไปด้วยดังนั้นทุกอิริยาบถ การเคลื่อนไหวของร่างกาย ไม่ว่าจะท่าทางใดล้วนเกี่ยวข้องกับการใช้กระดูกสันหลังทั้งสิ้น

 

นพ.วิศิษฐ์ แซ่ล้อ

 

นพ.วิศิษฐ์ แซ่ล้อ แพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ เผยว่า การที่คนเรามี น้ำหนักเกิน นอกจากจะเป็นสาเหตุของโรคร้ายต่างๆ แล้ว โรคอ้วนยังก่อให้เกิดอาการปวดหลังได้ด้วยเช่นกัน เพราะร่างกายของคนอ้วนต้องรับน้ำหนักมากกว่าคนปกติ ส่งผลทำให้ หมอนรองกระดูกสันหลัง จะเสื่อมได้เร็วกว่าคนทั่วไป

 

 

 

หากใครอยากรู้ว่าเราเริ่มมีความเสี่ยงจาก น้ำหนักเกิน หรือไม่ สามารถตรวจหาความเสี่ยงนี้ได้ด้วยตัวเองโดยใช้สูตรการคำนวณหาค่า BMI หรือ ค่าดัชนีมวลกาย = น้ำหนัก (กิโลกรัม) หารส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง เช่น ผู้ป่วยน้ำหนัก 50 กก. สูง 165 ซม.  = 50 / (1.65 x 1.65) ค่า BMI = 18.3654 *(ค่าที่ได้น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ )

 

เกณฑ์การแปลผล ค่า BMI

 

  • <18.5          :  ต่ำกว่าเกณฑ์
  • 18.5-22.90  :  ปกติสมส่วน
  • 23-24.90     :  น้ำหนักเกิน
  • 25-29.90     :  อ้วนระดับ 1
  • >30             :  อ้วนระดับ 2

 

อ้วนไหม? เช็กจากค่า BMI หาก \'น้ำหนักเกิน\' เสี่ยง หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน

 

โครงสร้างของร่างกายรวมไปถึงการเรียงตัวของกระดูกสันหลัง เมื่อเรามี น้ำหนักเกิน สิ่งแรกที่จะเกิดขึ้นคือ การสร้างภาระต่อโครงสร้างของร่างกาย ลักษณะคล้ายกับ กระดูกสันหลัง ต้องแบกรับน้ำหนักที่มากขึ้น สิ่งนี้จะทำให้กระดูกสันหลัง เปลี่ยนโครงสร้างโดยจะมีการบิดมุมของกระดูกมากขึ้น เช่น เมื่อมีการบิดมุมที่แอ่นมากขึ้น หรือว่า น้ำหนักที่กดลงมาบริเวณกระดูกสันหลังและ หมอนรองกระดูกสันหลัง ก็จะมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เมื่อเวลาผ่านไป จะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อบริเวณกระดูกสันหลัง และเสี่ยงต่อการเป็น โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน, โพรงเส้นประสาทตีบแคบ, หมอนรองกระดูกสันหลังทรุดตัว และอาจนำไปสู่เรื่องของข้อกระดูกสันหลังเคลื่อน

 

อ้วนไหม? เช็กจากค่า BMI หาก \'น้ำหนักเกิน\' เสี่ยง หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน

 

สำหรับแนวทางการรักษา หากพบว่าผู้ป่วยมีอาการที่ไม่รุนแรงมาก สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยา หรือกายภาพบำบัด แต่เมื่อใดก็ตามที่มีข้อบ่งชี้ว่าควรต้องได้รับการผ่าตัด แนะนำให้รีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาหลังการรักษาผู้ป่วยไม่ควรชะล่าใจและควรให้ความสำคัญของการรักษาค่าดัชนีมวลกายให้อยู่ในเกณฑ์ปกติเพราะนอกจากจะเป็นการช่วยชะลอความเสื่อมของโครงสร้างกระดูกสันหลัง ยังส่งผลดีต่อระบบอื่นๆ ในร่างกายเช่น โรค NCDs (เบาหวาน ,ไขมัน ,ความดัน และหัวใจ) เป็นต้น

 

ทั้งนี้ นพ.วิศิษฐ์ ฝากทิ้งท้ายว่า ทุกคนสามารถป้องกันความเสี่ยงจากการเกิดโรคนี้ได้ โดยหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้ปวดหลัง และเสี่ยงต่อการเกิดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ด้วยการควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วนเกินเกณฑ์มาตรฐาน รับประทานอาหารที่มีประโยชน์สำหรับร่างกาย พยายามลดน้ำหนักตัวแต่ไม่ใช่การอดอาหาร หรือหากใครมีน้ำหนักที่อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่มีอาการปวดหลังเรื้อรัง แนะนำให้พบแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังและรีบตรวจรักษา