อารมณ์แปรปรวน ก่อนมี 'ประจำเดือน' อาจเป็นสัญญาณเตือน 'PMDD'
อาการหรือ อารมณ์แปรปรวน ก่อนมี 'ประจำเดือน' หากเรื้อรังมากกว่า 3 เดือนติดต่อกัน หรือเริ่มมีอาการที่รุนแรงในด้านจิตใจและอารมณ์ จนมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย อาจเข้าข่าย 'PMDD'
ปัจจุบันมีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่ต้องเผชิญกับอาการหรือ อารมณ์แปรปรวน ก่อนมี ประจำเดือน เช่น รู้สึกไม่สบายตัว ปวดหัว ปวดเมื่อย ไม่มีแรง หิวบ่อย หงุดหงิดโมโหง่าย ทำให้หลายคนคิดว่าอาจเป็นแค่อาการ PMS (Premenstrual Syndrome) หรือ กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน แต่ถ้ามีอาการแบบนี้เรื้อรังมากกว่า 3 เดือนติดต่อกัน หรือเริ่มมีอาการที่รุนแรงในด้านจิตใจและอารมณ์ จนมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย อาจเข้าข่าย PMDD (Premenstrual Dysphoric Disorder) หรือ กลุ่มอาการอารมณ์ผิดปกติ ก่อนมีประจำเดือน ชนิดรุนแรง
พญ.อริยาภรณ์ ตั้งชีวินศิริกูล จิตแพทย์โรงพยาบาลBMHH- Bangkok Mental Health Hospital กล่าวว่า PMDD คือ กลุ่มอาการอารมณ์ผิดปกติ ก่อนมีประจำเดือน ชนิดรุนแรง เป็นอาการที่รุนแรงของกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน ที่จะมีความผิดปกติทางร่างกายจิตใจหรือ อารมณ์แปรปรวน อย่างรุนแรงโดยสัมพันธ์กับช่วงก่อนการมีประจำเดือน บางคนอารมณ์อ่อนไหว แปรปรวนง่าย ซึมเศร้าอย่างมาก สิ้นหวัง ไม่อยากมีชีวิต วิตกกังวลอย่างรุนแรง ร้องไห้บ่อย โมโหร้าย อารมณ์รุนแรง ซึ่งภาวะ PMDD พบได้ค่อนข้างน้อยเพียง 2-10% ของผู้หญิงที่มี ประจำเดือน
สาเหตุของ PMDD เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนในช่วงระหว่างการตกไข่ในแต่ละรอบเดือน ส่วนปัจจัยอื่นที่เป็นสาเหตุ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทในสมอง ปัญหาจากความเครียด โรคทางอารมณ์ เช่น โรคซึมเศร้า กรรมพันธุ์ เหตุการณ์ร้ายแรงในชีวิต เป็นต้น
อาการของ PMDD
- ซึมเศร้า หมดหวัง คิดทำร้ายตัวเอง
- วิตกกังวลและเครียด
- อารมณ์แปรปรวน ง่าย
- อารมณ์ไม่มั่นคงโกรธง่าย
- ไม่สนใจชีวิตประจำวันและไม่สนใจคนรอบข้าง
- ไม่มีสมาธิ
- อ่อนเพลีย
- กินจุ กินบ่อย
- นอนไม่หลับ
- ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้
- ไม่อยากทำกิจกรรมที่เคยชอบ
อาการทางร่างกาย ท้องอืด ปวดเกร็งท้อง ท้องเสีย ปวดศีรษะ ปวดหลัง คัดตึงเต้านม อ่อนเพลีย
ทั้งนี้ บางคนอาจมีอาการรุนแรงมาก จนส่งผลต่อการใช้ชีวิตและการทำงาน และบางคนอาจมีอาการทางกายควบคู่ไปด้วย โดยผู้หญิงที่มีอาการ PMDD บ่อยๆ ในทุกเดือน ก่อนมีประจำเดือน ก็อาจมีโอกาสพัฒนาไปเป็นโรคซึมเศร้าได้
สำหรับการรักษา PMDD ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค โดยจะมีการรักษาด้วยยา เช่น กลุ่มยาต้านเศร้า ที่รักษาอาการซึมเศร้า คลายกังวล ช่วยลดอาการหงุดหงิด เศร้า หรือก้าวร้าว ยาแก้ปวดรับประทานตามอาการ กลุ่มยาปรับระดับฮอร์โมน เช่น ยาคุมกำเนิด เพื่อปรับระดับฮอร์โมนในร่างกายให้สมดุล จะช่วยลดอาการทางร่างกายได้ และการรักษาโดยใช้จิตบำบัด เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถจัดการสภาวะอารมณ์ในแง่ลบ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นปกติ