แพทย์แนะ หน้าร้อน ใช้ 'สมุนไพร' ฤทธิ์เย็น ปรับสมดุลร่างกาย ป้องกัน 'ฮีทสโตรก'
แพทย์แนะช่วง หน้าร้อน ควรใช้ 'สมุนไพร' ที่ฤทธิ์เย็น เป็นทางเลือกในการปรับสมดุลร่างกาย ป้องกันการเกิด โรคลมแดด หรือ 'ฮีทสโตรก'
ในช่วงที่ อากาศร้อน จัด อุณหภูมิตอนกลางวันบางวันสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส และมีแนวโน้มว่าจะขึ้นสูงขึ้นอีกด้วย ซึ่งอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ ทั้งในระยะสั้น ระยะยาว และยังส่งผลกระทบต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย ที่เห็นชัดๆ ในระยะนี้ คือ โรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก วันนี้ ภญ.อาสาฬา เชาวน์เจริญ เภสัชกรชำนาญการ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จึงมาแนะนำการใช้ สมุนไพร เพื่อเป็นทางเลือกในการปรับสมดุลร่างกาย ป้องกันไม่ให้เกิดฮีทสโตรก
ภญ.อาสาฬา กล่าวว่า การเลือกใช้ สมุนไพร ทางเลือกในช่วง อากาศร้อน เช่นนี้ ช่วยเพิ่มโอกาสในการลดความเสี่ยงที่อุณหภูมิในร่างกายจะสูงขึ้นได้ โดยใช้สมุนไพรฤทธิ์เย็น ช่วยปรับให้ร่างกายสมดุล ลดไฟธาตุที่จะกำเริบได้ในช่วงนี้ โดยปรับใช้เป็นรูปแบบของอาหาร เครื่องดื่มได้ เช่น
- การเลือกดื่มน้ำสมุนไพรที่ทำจากสมุนไพรฤทธิ์เย็น เช่น ใบบัวบก ใบเตย ว่านหางจระเข้ น้ำมะพร้าว รากบัว เก๊กฮวย มะขาม มะตูม กระเจี๊ยบแดง เป็นต้น
- รับประทานผลไม้ฤทธิ์เย็น แก้ร้อนใน กระหายน้ำ อาทิ แตงโม แตงไทย แคนตาลูป เมล่อน แก้วมังกร กระท้อน ส้มโอ ชมพู่ เป็นต้น
- กลุ่มพืชผักที่มีฤทธิ์เย็น คลายร้อน เช่น ตระกูลฟัก แฟง แตงกวา หัวไชเถ้า บวบ ตำลึง มะระขี้นก ใบหูเสือ ดอกแค ขี้เหล็ก สะเดา ผักบุ้ง กวางตุ้ง ผักกาด สายบัว รากผักชี เป็นต้น
“ในทางการแพทย์แผนไทย มีการแนะนำใช้ มหาพิกัดตรีผลา ที่ช่วยปรับสมดุลร่างกายในช่วงฤดูร้อน ประกอบด้วยสมุนไพร 3 ชนิด ได้แก่ โดยสูตรช่วยแก้กองปิตตะ แก้ธาตุไฟกำเริบในช่วงฤดูร้อน หรือธาตุร้อนในร่างกาย จะใช้ในสัดส่วน สมอพิเภก 12 ส่วน ต่อสมอไทย 8 ส่วน ต่อ มะขามป้อม 4 ส่วน ต้มใส่น้ำพอท่วม ต้มจนยาเดือดประมาณ 15-30 นาที กรองเอาแต่น้ำดื่มครั้งละ 1 แก้ว วันละ 1-3 ครั้ง อาจแต่งรสด้วยน้ำผึ้งหรือหญ้าหวานได้ช่วยให้รับประทานง่ายขึ้น” ภญ.อาสาฬา แนะนำ
นอกจากการใช้ สมุนไพร แล้ว ภญ.อาสาฬา ทิ้งท้ายว่า เพื่อป้องกัน โรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก ควรเลี่ยงการสัมผัสกับ อากาศร้อน จัดเป็นเวลานานๆ และดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ อย่างน้อย 2 ลิตรต่อวัน หรือเสียเหงื่อมากอาจดื่มน้ำหรือเกลือแร่เพิ่ม (ยกเว้นผู้ป่วยที่ต้องจำกัดการดื่มน้ำควรทำตามคำแนะนำแพทย์) และงดหรือลดเครื่องดื่มที่ทำให้ร่างกายเสียน้ำ เช่น ชา กาแฟ แอลกอฮอล์ ร่วมด้วยเนื่องจากอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำได้