ไขข้อสงสัย ทำไมต้อง 'ตรวจสุขภาพ' ทุกช่วงอายุ
ปีนี้คุณ 'ตรวจสุขภาพ' หรือยังคะ? ปัจจุบันมีโปรแกรมตรวจหลากหลายมากเลย แต่ที่สำคัญต้องเลือกให้เหมาะกับแต่ละช่วงอายุ สามารถตรวจได้ทุกช่วงวัย เพื่อค้นหาความเสี่ยงหรือความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้
พญ.กฤดากร เกษรคำ แพทย์ American Board of Anti-Aging Medicine จากศูนย์ตรวจสุขภาพแอดไลฟ์ ชั้น 2 ไลฟ์เซ็นเตอร์ (คิวเฮ้าส์ ลุมพินี) ได้กล่าวว่า เหตุผลที่ทำไมแต่ละช่วงอายุ ตรวจสุขภาพ ต่างกัน เพราะในแต่ละช่วงอายุ ร่างกายเรามีความเสื่อม และปัญหาสุขภาพที่แตกต่างกัน นอกจากนี้เพศหญิงและเพศชาย ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ก่อปัญหาสุขภาพที่แตกต่างกัน โดยนอกจากจะมีความเสื่อมของอวัยวะแล้ว ยังมีในเรื่องของฮอร์โมน ค่าทางชีวเคมีต่างๆ ในร่างกายที่เสื่อมลงอีกด้วย นอกจากการตรวจสุขภาพตามช่วงวัยแล้ว อาจตรวจเพิ่มในกรณีที่มีความเสี่ยงเพิ่มเติม เช่น ประวัติครอบครัวเป็นมะเร็ง โรคหัวใจ หรือมีการดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ เป็นต้น หมอขอยกตัวอย่างการตรวจ และความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพของแต่ละช่วงวัย ดังนี้ค่ะ
- อายุน้อยกว่า 30
เป็นวัยที่ร่างกายยังทำงานได้ดี แต่ก็เริ่มจะมีความเสื่อมเกิดขึ้น บางคนอาจเริ่มมีภาวะความดันโลหิตสูง ค่าน้ำตาล ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น ดังนั้น จึงควรตรวจเพื่อดูค่าน้ำตาล ไขมัน การทำงานของตับ ไต การทำงานของปอด โดยการเริ่ม ตรวจสุขภาพ ตั้งแต่เริ่มต้นก็จะช่วยให้แพทย์ได้เริ่มเห็นสัญญาณความเสื่อม และเฝ้าระวังได้ตั้งแต่ระยะแรกๆ
- ช่วงอายุ 30 - 40 ปี
ในช่วงวัยนี้อวัยวะต่างๆ ยังทำงานได้ค่อนข้างดี ถึงแม้จะเริ่มมีความเสื่อมเกิดขึ้น แต่อาจจะยังไม่แสดงให้เห็นถึงความผิดปกติชัดเจน แต่ก็จะเริ่มมีอาการแสดงออกมา เช่น เหนื่อย เพลีย เรื้อรัง ไม่สดชื่น เริ่มมีปัญหานอนไม่หลับ การเผาผลาญแย่ลง ร่างกายไม่ฟิตเหมือนเดิม รวมถึงอาจมีปัญหาระบบทางเดินอาหาร ดังนั้น ควรตรวจเพิ่มเติมจากเดิมคือ การตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้อง ตรวจความยืดหยุ่นของหลอดเลือด นอกจากนี้อาจตรวจดูความสมดุลของระดับฮอร์โมน เนื่องจากเป็นวัยที่ระดับฮอร์โมนในร่างกายเริ่มก้าวเข้าสู่ขาลง
- ช่วงอายุ 40-50 ปี
เป็นวัยที่การทำงานของร่างกายเริ่มเสื่อมถอย ระดับฮอร์โมนก็ลดลง หลายๆ ระบบในร่างกายแย่ลงจนแสดงออกมาชัดเจน ระบบหัวใจและหลอดเลือดทำงานในน้อยลง หลอดเลือดสูญเสียความยืดหยุ่น เริ่มมีความเสี่ยงจากโรคระบบหลอดเลือดและหัวใจมากขึ้น จึงเป็นช่วงอายุที่ควรตรวจสมรรถภาพการทำงานของหัวใจด้วยการวิ่งสายพาน การมองเห็น การได้ยิน ระบบสมองและความจำแย่ลง มีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเพิ่มมากขึ้น เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับ มะเร็งปอดโดยเฉพาะผู้ที่สูบหรี่ ในผู้ชาย ต้องระวังมะเร็งต่อมลูกหมาก ในผู้หญิงต้องระวังการเกิดมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม
- อายุ 50 ปีขึ้นไป
ช่วงวัยนี้ร่างกายมีความเสื่อมอย่างเห็นได้ชัดเจน ควรมีการตรวจร่างกายอย่างละเอียดในทุกอวัยวะ ตรวจการทำงานของหัวใจ ตรวจ MRI สมอง ตรวจหาหินปูนที่เกาะหลอดเลือด (CT Calcium score) ตรวจมวลกระดูก รวมถึงการตรวจระดับฮอร์โมนด้วย เนื่องจากเป็นวัยที่ก้าวเข้าสู่วัยทองอย่างเต็มตัว มีความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ การเกิดมะเร็งหรือเนื้องอกในหลายๆอวัยวะ ความเสี่ยงโรคกระดูกพรุน โดยเฉพาะในผู้หญิง
นอกจากการ ตรวจสุขภาพ ตามช่วงวัยแล้ว สิ่งที่ควรคำนึงถึงอีกอย่างก็คือ การฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุ เนื่องจากเมื่ออายุมากขึ้น ภูมิคุ้มกันก็เริ่มอ่อนลง เสี่ยงต่อการติดเชื้อบางชนิดได้ง่าย และอาจเกิดอาการแทรกซ้อนรุนแรงได้มากกว่าอายุยังน้อย เช่น ไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ งูสวัด เป็นต้น