ดื่มน้ำเยอะเกินไป อันตรายเสี่ยงตายจริงหรือ?
ไขข้อสงสัย ดื่มน้ำเยอะเกินไป อันตรายเสี่ยงตายจริงหรือ? รู้จัก 'ภาวะน้ำเป็นพิษ' และวิธีคิดคำนวณปริมาณน้ำที่ร่างกายต้องการต่อวัน
"ภาวะน้ำเป็นพิษ" สภาพอากาศที่ร้อนจัด ในบางพื้นที่อุณหภูมิสูงแตะ 40 องศาเซลเซียส ทำให้หลายคนทนไม่ไหว ต้องหาน้ำดื่มดับกระหายอยู่บ่อยครั้ง แต่เคยสงสัยไหมว่า การดื่มน้ำในปริมาณมากๆ ต่อวัน ส่งผลเสียกับเราอย่างไร ในหนึ่งวันนั้นคนเราควรดื่มน้ำปริมาณกี่ลิตร
ก่อนหน้านี้ เฟซบุ๊กเพจ "World Forum ข่าวสารต่างประเทศ" รายงานเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2566 เป็นเรื่องราวสุดสลดของสาวรายหนึ่ง วัย 35 ปี ชื่อ แอชลีย์ ซัมเมอร์ส เธอเสียชีวิตจาก "ภาวะน้ำเป็นพิษ" หลังดื่มน้ำมากๆ ในระยะเวลาสั้นๆ ในช่วงวันหยุดพักผ่อน ที่ทะเลสาบฟรีแมนใกล้เมืองมอนติเซลโล รัฐอินเดียนา ครอบครัวของแอชลีย์ ซัมเมอร์สเข้าพัก เสาร์ -อังคาร วันสุดท้ายของทริป อากาศร้อนมาก 33 องศาเซลเซียสขณะเดินเที่ยวในทะเลสาบ แอชลีย์รู้สึกหิวน้ำมาก และดื่มน้ำสี่ขวดหรือเกือบสองลิตรในช่วงเวลาสั้นๆ ประมาณ 20 นาที ครอบครัวของเธอกล่าว ( 16 ออนซ์ ×4 ขวด = 64 ออนซ์ หรือ 1.89 ลิตร)
เธอเริ่มรู้สึกหน้ามืดและปวดหัวมาก เมื่อครอบครัวถึงบ้าน เธอสลบในโรงรถ ครอบครัวของเธอรีบพาเธอไปที่โรงพยาบาล แต่เธอไม่รู้สึกตัวอีกเลย เธอมีอาการสมองบวม ต่อมาแพทย์แจ้งครอบครัวว่าเธอเสียชีวิตจาก "ภาวะน้ำเป็นพิษ"
ดื่มน้ำเยอะเกินไป อันตรายจริงหรือ?
- โซเดียมต่ำกว่าปกติ
ค่าปกติของโซเดียมในร่างกายนั้นจะอยู่ที่ 135-145 mEg/L. แต่ถ้าหากดื่มน้ำมากเกินไปร่างกายเสียสมดุล โดยค่าของโซเดียมนั้นจะอยู่ต่ำกว่า 135 mEq/L นี่คือภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ อาการของภาวะโซเดียมในเลือดต่ำมักจะมีอาการสับสนเพียงเล็กน้อย หรือการเป็นตะคริวที่กล้ามเนื้อ หากมีอาการรุนแรงจะมีความรู้สึกง่วงนอน และไม่รู้สึกตัวในที่สุด
- เซลล์บวม
ในร่างกายของมนุษย์จะมีโซเดียม และโพแทสเซียมไอออนที่ทำหน้าที่เป็นอิเล็กโทรไลต์ในร่างกาย และรักษาสมดุลของเหลว ระหว่างเซลล์ และเลือด หากดื่มน้ำมากเกินไปน้ำก็จะเข้าไปในเซลล์ ทำให้เซลล์บวมมากขึ้น จะมีอาการปวดศีรษะ ชัก และไม่รู้สึกตัว มีความเสี่ยงในการเสียชีวิต ,กล้ามเนื้อเป็นตะคริว เมื่อร่างกายเสียสมดุลจากการดื่มน้ำมากเกินไป กล้ามเนื้อจะเกิดการหดเกร็ง และเป็นตะคริวในที่สุด
- ไตทำงานหนัก
หากดื่มน้ำครั้งละมากๆ ไตจะกรองน้ำส่วนเกินออกจากเลือดอย่างหนัก ส่งผลให้เกิดโรคไตเรื้อรัง และโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ หากไตทำงานหนักขึ้น ร่างกายจะมีความรู้สึก อ่อนเพลีย และเหนื่อยได้เช่นกัน
- หัวใจทำงานหนัก
เมื่อดื่มน้ำเข้าไปในร่างกาย ลำไส้เล็กจะทำการออสโมซิส (Osmosis) น้ำไปในกระแสเลือด เมื่อปริมาณน้ำเข้าสู่ร่างกายเยอะ ปริมาตรเลือดก็เพิ่มสูงขึ้น หัวใจจึงต้องทำงานหนัก สามารถเกิดอาการชักได้
- โพแทสเซียมต่ำกว่าปกติ
เมื่อได้รับน้ำมากเกินไป ทำให้ระดับของโพแทสเซียมในร่างกายต่ำลง ทำให้ความดันโลหิตต่ำ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เสี่ยงต่อการเป็นอัมพาตได้
อาการของ "ภาวะน้ำเป็นพิษ"
- สับสน
- ปวดศีรษะ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดเมื่อยตามร่างกาย
- ชัก หมดสติ
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
ใน 1 วัน ร่างกายเราต้องการน้ำปริมาณเท่าไร?
ร่างกายของเราแต่ละคน ต้องการปริมาณน้ำไม่เท่ากัน แล้วควรดื่มน้ำเท่าไร? เรามีวิธีการคำนวณปริมาณน้ำที่ควรดื่มในแต่ละวัน โดยคำนวณจากน้ำหนักตัวของเราเอง
วิธีคิดคำนวณ
น้ำหนัก (กิโลกรัม) x 2.2 x 30/2 = ปริมาณน้ำ(มล.)
เช่น น้ำหนักตัว 55 x 2.2 x 30/2 = 1,815 มล. หรือ 1.8 ลิตร
ข้อมูลอ้างอิงจาก : World Forum ข่าวสารต่างประเทศ,โรงพยาบาลศิครินทร์,โรงพยาบาลเพชรเวช