เช็กพฤติกรรมด่วน อยากนอน แต่ 'นอนไม่หลับ' ใช่อาการป่วยทางจิตหรือไม่?
อาการ 'นอนไม่หลับ' เป็นสาเหตุให้มีปัญหาในการทำงานได้ มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 2 ต่อ 1 และพบบ่อยขึ้นตามอายุ
อาการ นอนไม่หลับ หลับยาก หลับๆ ตื่นๆ จนพักผ่อนไม่เพียงพอ กลายเป็นปัญหาใหญ่ของคนยุคใหม่ ซึ่งสาเหตุอาจมาจากโรคเรื้อรังบางโรค เช่น โรคภูมิแพ้ หอบหืด ความดันโลหิตสูง และปัญหาทางด้านจิตใต ความเครียดความกังวลต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่ากระทบต่อการใช้ชีวิต คุณจะรู้สึกอ่อนเพลียในระหว่างวัน และเป็นสาเหตุให้มีปัญหาในการทำงานได้ ซึ่งพบถึง 1/3 ของประชากรที่มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนไม่หลับ และมักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 2 ต่อ 1 และพบบ่อยขึ้นตามอายุ
ทำความรู้จักโรคนอนไม่หลับ
โรคนอนไม่หลับ คือ โรคที่มีความผิดปกติในวงจรการหลับ โดยสามารถแบ่งเป็นชนิดของการ นอนไม่หลับ 3 ชนิดใหญ่คือ
- หลับยาก : จะมีอาการหลับได้ แต่ต้องใช้ระยะเวลาเป็นชั่วโมง
- หลับไม่ทน : มักตื่นกลางดึก เช่น หัวค่ำอาจพอหลับได้ แต่ไม่นานก็จะตื่น ในบางคนอาจตื่นแล้วกลับไปหลับอีกไม่ได้
- หลับๆ ตื่นๆ : จะมีอาการลักษณะ รู้สึกคล้ายไม่ได้หลับเลยทั้งคืน เพียงแต่เคลิ้มๆ ไปเป็นพักๆ เท่านั้น
ผู้เป็น โรคนอนไม่หลับ อาจจะมีอาการเพียงข้อใดข้อหนึ่ง หรือมีหลายข้อรวมกันก็ได้ และแน่นอนเมื่อมีอาการนอนไม่หลับในช่วงตอนกลางคืนนั้นก็จะส่งผลกระทบในตอนกลางวันทำให้รู้สึกอ่อนแรง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ไม่มีสมาธิ ง่วงซึม เป็นต้น
สาเหตุของอาการนอนไม่หลับ
- ปัญหาจากสิ่งแวดล้อม เช่น อุณหภูมิ สว่างเกินไป เสียงรบกวนจากการจราจร โทรทัศน์ พื้นที่นอนแคบเกินไปหรือกว้างเกินไป หรือการนอนต่างที่ ทำให้หลับยาก
- ปัญหาจากร่างกาย เช่น อาการเจ็บป่วย ปวดท้อง ปวดตามเนื้อตัว เป็นโรคเกี่ยวกับการนอนหลับ มีปัญหาเรื่องระบบการหายใจ มีอาการไอ
- ปัญหาจากจิตใจ เช่น ความเครียด อาการวิตกกังวล แรงกดดัน หรือมีอาการซึมเศร้าและท้อแท้ หมดกำลังใจ หมดหวังในการใช้ชีวิต คิดว่าตัวเองไร้ค่า ยึดติดและอยู่กับตัวเองมากเกินไป การทำงานที่ไม่ได้ตามหวัง
- นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงไปถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะนอนไม่หลับได้ เช่นการดื่มแอลกอ ฮอล์ คาเฟอีนในกาแฟ บุหรี่ หรือการใช้ยาบางชนิดนั้นอาจส่งผลเกี่ยวกับการนอนหลับ ท้องว่าง ทำให้เกิดอาการอึดอัด หิวขึ้นมาในช่วงดึก หรืออิ่มมากเกินไป จนทำให้มีอาการแน่นท้องกลางดึก จนนอนไม่หลับ รวมไปถึงหน้าที่การงานบางประเภท เช่น งานที่ต้องเปลี่ยนเวลาการนอนอยู่สม่ำเสมอ เช่น พยาบาล ยาม เป็นต้น
รักษาโรคนอนไม่หลับ
วิธีการรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุอาการ นอนไม่หลับ ของแต่ละบุคคล ซึ่งต้องแยกให้ได้เสียก่อนว่ามาจากสาเหตุใด หากเกิดจากอุปนิสัยการนอน แพทย์จะให้คำแนะนำอุปนิสัยการนอนที่ถูกต้อง แต่ถ้าเกิดจากโรคทางจิตใจหรือระบบประสาท เช่น โรคซึมเศร้า โรคไบโพล่าร์ โรคประสาทตื่นตัวผิดปกติ แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาร่วมด้วย
นอนไม่หลับแบบไหน ควรพบจิตแพทย์
หลายๆ ครั้งในการที่เรานอนหลับไม่สนิท หรือ นอนไม่หลับ ติดต่อกันมากกว่า 3 วัน/สัปดาห์ เป็นระยะเวลามากกว่า 1 เดือน จะส่งผลต่ออารมณ์ สมาธิ ความจำ เกิดภาวะเครียด กดดัน รู้สึกเป็นกังวล รบกวนจิตใจของคุณ มีผลกระทบต่ออารมณ์และประสิทธิภาพในการทำงาน คุณควรปรึกษาแพทย์ แพทย์จะวินิจฉัยด้วยการสอบถามประวัติความเจ็บป่วย อุปนิสัยการนอน ปัญหาที่ทำให้เกิดความกังวลใจ ร่วมกับการตรวจร่างกายอย่างละเอียดเพื่อค้นหาสาเหตุของอาการนอนไม่หลับ
การป้องกันอาการนอนไม่หลับ
- เข้านอนให้เป็นเวลาปรับพฤติกรรมการนอนที่ไม่เป็นเวลา ไม่งีบหลับระหว่างวัน ไม่กดดันตัวเองให้นอนหลับ เพราะอาจส่งพลให้ตัวเองเกิดความวิตกกังวล
- ดื่มน้ำอุ่นๆ ก่อนนอน พยายามผ่อนคลาย หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่กระตุ้นให้ประสาทตื่นตัวหลังมื้อเที่ยง เช่น กาแฟ หรือชา และสูบบุหรี่ เพราะจะทำให้หลับยาก
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักช่วงก่อนนอน การออกกำลังอาจจะช่วยให้เรานอนหลับได้สบายยิ่งขึ้น แต่ช่วงเวลาที่คุณออกกำลังกายนั้นก็อาจส่งผลกระทบต่อการนอนได้ด้วยเช่นกัน เพราะหากออกำลังกายในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม จะทำให้คุณนอนหลับได้ยากขึ้นไปอีก
- พยายามหลับให้ได้ด้วยตัวเองหลีกเลี่ยงการใช้ยานอนหลับ
ปัญหาการ นอนไม่หลับ อดนอน หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ แน่นอนว่าจะส่งผลเสียกับร่างกายทำให้ระบบร่างกายทำงานติดขัด จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดความดันโลหิตสูง และปัญหาด้านระบบหลอดเลือดหัวใจ ระบบภูมิคุ้มกันทำงานโดยมีประสิทธิภาพลดลง ดังนั้น ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรหาสาเหตุให้พบ และทำการป้องกันและรักษาอย่างถูกต้อง