ไลฟ์สไตล์

ไขข้อสงสัย เล่นแบดมินตัน เสี่ยงภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน จริงหรือ?

ไขข้อสงสัย เล่นแบดมินตัน เสี่ยงภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน จริงหรือ?

01 ก.ค. 2567

ไขข้อสงสัย เล่นแบดมินตัน เสี่ยงภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน จริงหรือ? แนะวิธีรอดหากเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันในสนาม

จากกรณี การเสียชีวิตของ จาง จี้ เจี๋ย (Zhi Jie Zhang) นักแบดมินตันเยาวชน ทีมชาติจีน ที่ได้เสียชีวิตหลังเกิดหัวใจวายเฉียบพลันในสนามแข่งขัน รายการ "แบดมินตัน" ชิงแชมป์เอเชีย ประเภททีมที่ อินโดนีเซีย ในรอบแบ่งกลุ่ม เมื่อเช้าวันที่ 30 มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา โดยมีอาการล้มหน้าคว่ำขณะกำลังเดินไปเสิร์ฟ แต้มที่ 11-11 เกมแรกของการแข่งขัน และเกิดอาการชัก จนแพทย์สนามต้องเข้ามาปฐมพยาบาล ก่อนรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล ภายใน 2 นาที แต่ยื้อชีวิตไม่ไหว ไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล สร้างความเศร้าเสียใจให้กับแฟนคลับ และผู้ชมจำนวนมาก

ล่าสุด เพจดัง Drama-addict ได้ออกมาให้ให้ความรู้เกี่ยวกับภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน ในนักกีฬา "แบดมินตัน" ระบุว่า เคสนักแบดมินตันจากจีน เมื่อวานที่เกิดอาการหัวใจวายเฉียบพลัน ตอนแข่งขัน เสียชีวิตแล้ว ขอแสดงความเสียใจด้วยครับ

 

 

พ่อแม่พี่น้องถ้าตามข่าว จะสังเกตเห็นว่า มีคนเล่น "แบดมินตัน"แล้วเกิดอาการแบบนี้บ่อยมาก สาเหตุเกิดจาก การเล่นแบดเป็นกีฬาที่ความเข้มข้นสูงมาก จะมีการขยับตัวต่อเนื่องเป็นระยะเวลานึงเป็นช่วงๆ ซึ่งในช่วงที่ขยับตัวไม่หยุดนั้น จะทำให้ชีพจรขึ้นไปสูงมากๆ เหมือนการออกกำลังกายแบบ HIIT (High Intensity Interval Training)

และในบางคน ที่อาจมีโรคประจำตัวซ่อนอยู่ การที่หัวใจเต้นเร็วมากๆ จะไปกระตุ้นให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ที่อันตรายถึงชีวิตเช่น

 

  • VT : Ventricular Tachycardia เป็นโรคหัวใจห้องล่างเต้นเร็วผิดปกติ ไม่เป็นจังหวะทำให้หมดสติและเสียชีวิตกะทันหัน หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที 
  • VF : Ventricular Fibrillation เป็นภาวะหัวใจห้องล่างเต้นพลิ้วไม่เป็นจังหวะ ทำให้หมดสติและเสียชีวิตกะทันหัน หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที  ได้

 

เมื่อเราพบคนที่กำลังออกกำลังกายอยู่ดีๆ จู่ๆ ก็ฟุบไปเลย สาเหตุมักมาจากหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดนี้ วิธีช่วย ถ้าคนๆ นั้นหมดสติปลุกไม่ตื่น ให้เริ่มทำการ CPR ทันที และรีบโทร 1669 ที่สำคัญที่สุดคือ AED หรือ เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ

 

Automated External Defibrillator : AED จะสามารถทำให้หัวใจที่เต้นผิดจังหวะกลับมาเต้นตามปรกติได้ และช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตสูงถึง 50% ดังนั้นต้องมี AED ประจำที่สนามแบดมินตัน และสนามกีฬาทุกแห่งครับ