Lifestyle

"ไข้หวัดใหญ่" มีกี่สายพันธุ์ เทียบชัดๆ สายพันธุ์ไหน รุนแรงสุด ป้องกันยังไง

เปิดข้อมูล "ไข้หวัดใหญ่" มีกี่สายพันธุ์ เทียบชัดๆ สายพันธุ์ไหน รุนแรงที่สุด จะป้องกันได้อย่างไร "หมอยง" ระบุ กลับมาระบาดหนักอีกระลอก

"ไข้หวัดใหญ่" อยู่ในช่วงกำลังระบาดอย่างมาก โดย "หมอยง" ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan เปิดข้อมูลขณะนี้มีการระบาดของ ไข้หวัดใหญ่ ค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่ ที่พบจะเป็น ไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ A มากกว่า สายพันธุ์ B และส่วนใหญ่จะเป็น H1N1 2009 มากกว่า H3N2

 

 

"ไข้หวัดใหญ่" (Flu, Influenza) คือ โรคระบบทางเดินหายใจ ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจในส่วนของจมูก ลำคอ และปอด แม้อาการเบื้องต้นคล้ายไข้หวัดธรรมดา มีไข้ ตัวร้อน น้ำมูกไหล ไอหรือจาม แต่มีความรุนแรงและมีโอกาสนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนได้

 

ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคติดต่อที่สามารถพบได้ตลอดปี และระบาดในช่วงเปลี่ยนผ่านฤดูที่มีสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงฉับพลัน โดยเฉพาะในฤดูหนาวและฤดูฝนที่เอื้อต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้เป็นอย่างดี

 

 

ข้อแตกต่างเบื้องต้นของไข้หวัด (Cold) และไข้หวัดใหญ่ (Flu)

 

แม้อาการของ ไข้หวัด และ ไข้หวัดใหญ่ จะค่อนข้างคล้ายกันจนอาจทำให้หลายคนสับสน แต่ผู้ป่วยมักแสดงอาการแตกต่างกันอยู่บ้าง

 

ไข้หวัด

 

ผู้ป่วยจะค่อยๆ แสดงอาการป่วยทีละน้อย มักมีอาการในระบบหายใจส่วนต้น เช่น คัดจมูก ไอ จาม เจ็บคอ มีเสมหะ แม้จะมีอาการป่วยรบกวนเป็นระยะ แต่ยังคงสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ


 

ไข้หวัดใหญ่

 

ผู้ป่วยจะเกิดอาการอย่างเฉียบพลัน มีไข้สูง และมีอาการรุนแรงกว่าไข้หวัด โดยจะมีไข้สูงเป็นลักษณะเด่น ร่วมกับมีอาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและอ่อนเพลีย นอกจากนี้ ผู้ป่วยจะรู้สึกเพลียมากกว่าไข้หวัด และต้องการพักผ่อนมากกว่าปกติ หากมีไข้สูงมากหรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา

 

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีสถิติผู้ป่วย โรคไข้หวัดใหญ่ ค่อนข้างสูง และเป็นหนึ่งในโรคที่ควรเฝ้าระวังที่สำคัญเป็นอันดับต้นๆ จากรายงานจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าในปี พ.ศ. 2565 มีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ทั่วประเทศมากกว่า 33,000 ราย

 

 

ไข้หวัดใหญ่ ภาพ freepik

 

ประเภทของไข้หวัดใหญ่

 

ไข้หวัดใหญ่ เกิดจากการติดเชื้อ Influenza virus โดยการติดเชื้อที่พบในมนุษย์ คือ สายพันธุ์ A, B และ C

 

 

ไวรัสชนิด A

 

มีความรุนแรงและอันตรายมากที่สุด สามารถติดต่อจากสัตว์พาหะมาสู่คน และจากคนที่ติดเชื้อไปสู่คนอื่น ๆ ทางการไอ จาม และอากาศหายใจที่มีเชื้อไวรัสกระจายอยู่ จึงสามารถแพร่ระบาดได้เป็นวงกว้าง หรือระบาดไปทั่วโลกได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว

 

โครงสร้างของไวรัสชนิด A แตกต่างจากไวรัสชนิดอื่น คือ มีไกลโคโปรตีน 2 แบบ ได้แก่ Hemagglutinin (HA) และ Neuraminidase (NA) โดย HA มีหน้าที่จับกับตัวรับสารของเซลล์แล้วบุกรุกเซลล์ สร้างอนุภาคไวรัสขึ้นมาใหม่ เมื่อติดเชื้อแล้ว NA จะทำหน้าที่ส่งไวรัสที่สร้างขึ้นใหม่แพร่กระจายไปสู่เซลล์อื่นๆ

 

โปรตีน HA มีทั้งสิ้น 15 ชนิดย่อย และ NA มี 9 ชนิดย่อย สายพันธุ์ของไวรัสจึงถูกตั้งชื่อตามการจับตัวของโปรตีน อย่างสายพันธุ์ที่มีการระบาดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เช่น H1N1 (ไข้หวัดหมู) H5N1 (ไข้หวัดนก)


 

ไวรัสชนิด B

 

มักแพร่ระบาดตามฤดูกาลที่มีสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการติดเชื้อ อย่างฤดูหนาวและฤดูฝน เช่น ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล (Seasonal flu) อาจแพร่ระบาดได้ในระดับภูมิภาค


 

ไวรัสชนิด C

 

เป็นการติดเชื้อทางระบบหายใจที่ไม่รุนแรง มีอาการป่วยเล็กน้อยหรือไม่แสดงอาการป่วยเลย ไม่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาด

 

ไวรัสชนิด D

 

เป็นการติดเชื้อที่พบเฉพาะในสัตว์ และยังไม่พบการติดเชื้อที่แพร่มาสู่คน

 

 

ไข้หวัดใหญ่ ภาพ freepik

 

 

อาการของไข้หวัดใหญ่

 

ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่จะมีอาการเบื้องต้นคล้ายผู้ป่วยไข้หวัดธรรมดา แต่อาการป่วยจะส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกายได้มากกว่า มีไข้สูงมาก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียหมดแรง ไอ จาม เจ็บคอ คออักเสบ บางคนอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนและท้องร่วงร่วมด้วย

 

ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแสดงอย่างอื่น แต่ไม่มีไข้ และอาจมีอาการแทรกซ้อนอื่นได้ด้วย ซึ่งอาการป่วยที่เกิดขึ้นจะขึ้นอยู่กับร่างกาย อายุ และโรคประจำตัวเดิมของแต่ละบุคคลด้วย

 

 

สาเหตุของไข้หวัดใหญ่

 

โรคไข้หวัดใหญ่ เกิดจากร่างกายได้รับเชื้อไวรัสกลุ่ม Influenza virus โดยสามารถเข้าสู่ร่างกายได้จากหลายทาง เช่น สูดดมเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายอยู่ในอากาศ หรือสัมผัสเชื้อไวรัสที่เกาะอยู่ตามพื้นผิวสิ่งของแล้วนำมือมาสัมผัสดวงตา ปาก หรือจมูก

 

การติดเชื้อและการแพร่กระจายของเชื้อจะขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ไวรัสด้วย บางสายพันธุ์สามารถติดต่อจากสัตว์เลือดอุ่นที่เป็นพาหะสู่คนได้ โดยเฉพาะปศุสัตว์ชนิดที่มีความใกล้ชิดกับคน ไข้หวัดใหญ่บางสายพันธุ์จึงมีความเสี่ยงในการแพร่ระบาดในหมู่ปศุสัตว์และเกษตรกรค่อนข้างสูง

 

 

การวินิจฉัยไข้หวัดใหญ่

 

หากสงสัยว่าตนหรือคนใกล้ชิดเป็นไข้หวัดใหญ่ อาจสังเกตได้จากอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น โดยผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่จะมีไข้สูง หนาวสั่น ไอ เจ็บคอ คัดจมูก ปวดหัว และอ่อนเพลีย บางรายอาจอาเจียนหรือมีอาการท้องเสียร่วมด้วย ซึ่งอาการป่วยเหล่านี้จะค่อยๆ ดีขึ้น และหายเป็นปกติภายใน 1–2 สัปดาห์

 

หากอาการไม่ดีขึ้น มีอาการแย่ลง หรือมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ปอดบวม หอบหืด ติดเชื้อที่หู หรือการทำงานของหัวใจผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

 

เมื่อไปพบแพทย์แล้ว แพทย์สงสัยเกี่ยวกับอาการป่วย หรือตรวจอาการในเบื้องต้นแล้วยังไม่ทราบผลที่แน่ชัด แพทย์อาจมีการตรวจทางห้องปฏิบัติอื่นๆ เพิ่มเติมตามเหมาะสม เช่น การเก็บตัวอย่างเชื้อจากน้ำมูกหรือเสมหะไปตรวจ การเพาะเลี้ยงเชื้อ หรือการตรวจหาไวรัสด้วยกล้องจุลทรรศน์

 

 

ไข้หวัดใหญ่ ภาพ freepik

 

 

การรักษาไข้หวัดใหญ่

 

เมื่อป่วยเป็น ไข้หวัดใหญ่ แพทย์จะจ่ายยาเพื่อรักษาตามอาการที่ป่วย หรือหากมีอาการป่วยเพียงเล็กน้อย สามารถใช้ยารักษาได้ด้วยตนเองภายใต้คำแนะนำของเภสัชกร เช่น ยาลดไข้ ยาแก้หวัด เช็ดตัวลดไข้ และควรนอนหลับพักฟื้นให้เพียงพอ เพราะการป่วยไข้หวัดใหญ่จะทำให้ร่างกายอ่อนล้า และต้องการการพักผ่อนมากกว่าปกติ

 

หากมีอาการที่น่าสงสัยหรือจัดอยู่ในผู้ป่วยสายพันธุ์อันตรายที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ เพื่อรับยาต้านไวรัสป้องกันหรือลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง และควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัส

 

 

ภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัดใหญ่

 

โรคไข้หวัดใหญ่ อาจเป็นเหตุให้ร่างกายเกิดภาวะแทรกซ้อนและโรคต่างๆ ได้ เช่น ภาวะขาดน้ำ การติดเชื้อในหู การติดเชื้อที่ไซนัส หลอดลมอักเสบ ปอดบวม ปอดอักเสบ ปัญหาที่ระบบประสาทส่วนกลาง กล้ามเนื้ออักเสบ หัวใจวาย กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน และมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่มีความรุนแรงกว่า

 

นอกจากนั้น อาการของไข้หวัดใหญ่ยังเป็นเหตุทำให้อาการป่วยโรคอื่นที่เป็นอยู่ก่อนหน้าทรุดหนักลง เช่น โรคเบาหวาน โรคหอบหืด และโรคหัวใจ

 

 

การป้องกันไข้หวัดใหญ่

 

ปัจจุบันมีวัคซีนที่ฉีดป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ โดยฉีดปีละครั้ง แต่ไม่สามารถป้องกันไวรัสได้ทุกชนิด ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ หญิงมีครรภ์ เด็กอายุ 6 เดือนจนถึง 2 ปี ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่องและโรคธาลัสซีเมีย ผู้ป่วยโรคอ้วน และผู้พิการทางสมองที่ไม่อาจช่วยเหลือตนเองได้ ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่

 

นอกจากนี้ การใช้ยาต้านไวรัสในผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ รวมถึงดูแลสุขภาพร่างกายและสุขอนามัยในการใช้ชีวิต ก็เป็นวิธีที่ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงในการป่วยไข้หวัดใหญ่ได้ด้วยเช่นกัน

 

 

ข้อมูล : Pobpad

 

 

ข่าวที่น่าสนใจ