กินดึกทำอ้วนไหม? หากไม่ปรับพฤติกรรมจะส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างไร?
ไขข้อสงสัย การกินตอนดึกจะทำให้อ้วนขึ้นไหม? ควรกินข้าวเย็นกี่โมง? แล้วถ้าหากไม่ปรับพฤติกรรมจะส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างไร?
“รับประทานอาหารเช้าเหมือนราชา รับประทานอาหารกลางวันเหมือนเจ้าชาย และรับประทานอาหารเย็นเหมือนยาจก” พฤติกรรมการกินดึก หรือการกินอาหารตั้งแต่ช่วง 22.00 น. เป็นต้นไป แน่นอนว่า แคลอรีก็คือแคลอรี่ ไม่ว่าคุณจะกินเมื่อใด มันก็คือแคลอรี่
ไม่สำคัญว่าคุณรับประทานอาหารเวลาใดของวัน แต่สิ่งที่สำคัญคือคุณรับประทานอาหารอะไร กินมากแค่ไหน และทำกิจกรรมทางกายมากน้อยเพียงใดตลอดทั้งวัน ซึ่งจะกำหนดว่าน้ำหนักของคุณจะเพิ่มขึ้น ลดลง หรือคงเดิม ส่วนการกินอาหารตอนดึก ไม่ว่าจะมากหรือน้อยแค่ไหน ไม่ได้มีแค่เรื่องของน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังผลเสียโดยตรงต่อร่างกาย และเปรียบเสมือนการจุดชนวนทำให้เกิดโรคต่างๆ เช่น โรคอ้วน โรคกรดไหลย้อน โรคกระเพาะอาหาร และยังส่งผลเสียต่อสุขภาพด้านอื่นๆ ได้โดยที่คุณไม่รู้ตัว
สรุปแล้วกินดึกอ้วนไหม? แน่นอนกินดึกแล้วอ้วนขึ้น หากทำเป็นประจำ และเลือกกินอาหารจำพวกไขมันสูงและน้ำตาลสูงเป็นหลัก เพราะว่าโดยปกติแล้วร่างกายของคนเราควรได้รับสารอาหารในช่วงมื้อเย็นไม่เกิน 19.00 น. เพื่อให้ร่างกายของเราสามารถย่อยอาหารที่กินเข้าไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อนที่จะเริ่มเข้านอน
ดังนั้นเมื่อเรามีการกินอาหารเข้าไปในช่วง 21.00 น. ขึ้นไป หรือกินแล้วนอนเลย ก็จะส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถย่อยอาหารได้ดีเท่าที่ควร ทำให้ร่างกายหลับยากยิ่งขึ้นและเกิดทั้งไขมันส่วนเกินที่หลงเหลือไว้ อีกทั้งยังกระทบต่อสุขภาพอีกหลากหลายด้าน
ผลเสียของการกินดึกเป็นประจำ
สำหรับคนที่ทานมื้อดึกเป็นประจำและเน้นกินอาหารจำพวกโซเดียมสูง ไขมันสูง และน้ำตาลสูง ปฎิเสธไม่ได้เลยครับว่าสิ่งที่จะตามมาก็คือ การที่น้ำหนักตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการกินดึกหลายคนก็จะเข้านอนต่อหลังจากกินเสร็จไปไม่กี่ชั่วโมง ทำให้ร่างกายเราไม่ได้นำพลังงานเหล่านั้นไปใช้มากพอที่จะเผาผลาญหมด น้ำหนักตัวจึงเพิ่มขึ้นและตามมาด้วยปัญหาส่วนเกินตามจุดต่างๆ หลายคนก็มักจะเริ่มจากการมีปัญหาอ้วนลงพุงและเหนียงใหญ่
ฮอร์โมนในร่างกายแปรปรวน
เมื่อกินดึกก็ย่อมตามมาด้วยการนอนดึกมากขึ้นนั่นเอง และต้องใช้เวลาอีก 1-2 ชั่วโมงกว่าจะนอนหลับสนิท พฤติกรรมนี้ส่งผลกระทบกับ “โกรทฮอร์โมน” (Growth Hormone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีส่วนสำคัญมากในการเจริญเติบโต และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย เมื่อโกรทฮอร์โมนหลั่งออกมาผิดปกติหรือลดน้อยลง จึงเป็นทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำลง และโครงสร้างต่างๆ ของร่างกายบอบบาง เช่น เนื้อเยื่อ กระดูก ผิวหนัง เป็นต้น
ผิวเสื่อมโทรม ดูแก่ก่อนวัย
สาเหตุมาจากการที่เวลาเรากินอาหารเข้าไปในช่วงดึก ทำให้กระเพาะของเรายังคงทำการย่อยอาหาร ซึ่งโดยปกติแล้วเวลากลางคืนจะต้องเป็นเวลาแห่งการซ่อมแซมและฟื้นฟูร่างกาย ทำให้ฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin) ที่มีหน้าที่ในการทำให้ร่ายกายง่วงนอนและต่อต้านอนุมูลอิสระ ทำงานได้ลดน้อยลงเนื่องจากมีน้ำย่อยมาขวางทางไว้ ส่งผลให้ร่ายกายของเราพักผ่อนไม่เพียงพอ และเกิดปัญหาผิวชราได้เร็วยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาริ้วรอย ร่องแก้ม ความหมองคล้ำ และความยืดหยุ่นของผิวลดน้อยลง
ทำให้เกิดโรคเรื้อรัง
ในขณะที่ร่างกายไม่สามารถผลิตโกรทฮอร์โมนได้เพียงพอ ยิ่งกินมื้อดึกติดต่อกันบ่อยๆ ยิ่งทำให้ร่างกายต้องผลิต “อินซูลิน” ในปริมาณที่มากขึ้นตามไปด้วย เพื่อนำมาใช้เผาผลาญคาร์โบไฮเดรต และไขมันจากอาหารที่เรากินเข้าไป อินซูลิน จึงเปลี่ยนอาหารทั้งหมดให้กลายเป็นพลังงาน และไขมันสะสมในร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเรื้อรังนานาชนิด เช่น โรคอ้วน โรคไขมันในเส้นเลือด โรคเบาหวาน โรคไขมันอุดตัน คอเลสเตอรอลสูง ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ และมีโอกาสเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันด้วย
สรุปแล้ว การกินมื้อดึกส่งผลเสียอย่างมากมาย หากคุณต้องการให้ร่างกายกลับมาทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และเพื่อสุขภาพที่ดีของตัวคุณเองในอนาคต ก็ถึงเวลาแล้วที่จะต้องปรับรูปแบบการใช้ชีวิต เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินให้ดีต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น