ไลฟ์สไตล์

ไขข้อสงสัย! ทำไมบางคนถึงไม่อ้วนขึ้นเลยทั้งๆที่กินเยอะ

ไขข้อสงสัย! ทำไมบางคนถึงไม่อ้วนขึ้นเลยทั้งๆที่กินเยอะ

23 ก.ค. 2567

น่าอิจฉา! สำหรับบางคนที่กินเยอะแค่ไหนก็ไม่อ้วน ขณะที่บางคนต้องดิ้นรนกับปัญหาเรื่องน้ำหนัก แม้จะพยายามลดแคลอรี่และออกกำลังกายอย่างมากก็ไม่ผอมซักที ไขข้อสงสัย! ทำไมบางคนถึงไม่อ้วนขึ้นเลยทั้งๆที่กินเยอะ

สิ่งนี้ทำให้ผู้คนมักสงสัยว่าเคล็ดลับเบื้องหลังหุ่นที่เพรียวบางของพวกเขาคืออะไรกันแน่ อาจเป็นแค่ระบบเผาผลาญหรืออย่างอื่นกันแน่ ระบบเผาผลาญที่รวดเร็วไม่ใช่สาเหตุเดียวที่ทำให้เกิดปัญหานี้ คำตอบของคำถามนี้ค่อนข้างซับซ้อน เนื่องจากมีปัจจัยหลายประการที่ส่งผลต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นพันธุกรรม โภชนาการ และแม้แต่พฤติกรรม ซึ่งล้วนมีส่วนช่วยให้คนผอมสามารถรักษาน้ำหนักตัวได้ แต่ละคนมีความแตกต่างกัน และวิธีที่พวกเขาจะรักษาน้ำหนักได้นั้นขึ้นอยู่กับว่าปัจจัยดังกล่าวส่งผลต่อชีวิตประจำวันของพวกเขามากเพียงใด

กินเยอะแต่น้ำหนักลด ผิดปกติไหม?

บางครั้งการกินเยอะแต่ไม่อ้วน หรือน้ำหนักลดมากเกินไป ก็อาจเป็นสัญญาณที่บอกโรค หรือความผิดปกติบางอย่างในร่างกายได้เหมือนกัน 

 

1. มีพยาธิ

พยาธิเป็นสิ่งมีชีวิต ประเภทปรสิตที่อยู่ในร่างกายคุณ และจะคอยแย่งอาหารที่คุณทานเข้าไป เลยส่งผลทำให้คุณรู้สึกหิวบ่อยขึ้น และไม่ว่าจะกินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน ได้เช่นกัน

 

2. โรคขาดสารอาหาร

การลดน้ำหนัก หรือการสร้างพฤติกรรมการทานอาหารแบบผิด ๆ ให้ตัวเอง โดยเลือกทานแต่ผักผลไม้ หลีกเลี่ยงแป้งและเนื้อสัตว์ นอกจากจะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอในการทำไปใช้ และทำให้ไม่ว่าจะกินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วนขึ้นแล้ว ยังทำให้ร่างกายอ่อนแอ ไม่มีแรงอีกด้วย

 

3. โรคเบาหวาน

อาการเสี่ยงโรคเบาหวานมีหลากหลายแต่หนึ่งในนั้นก็คือ อาการหิวบ่อย และกินเยอะขึ้น แต่น้ำหนักลดลงอย่างผิดปกติ 

 

4. ไทรอยด์เป็นพิษ

เมื่อระดับฮอร์โมนต่อมไทรอยด์เผาผลาญมากเกินไป ก็อาจส่งผลให้คุณหิวบ่อยขึ้น และ กินเยอะขึ้นแต่ไม่อ้วน และยังอาจส่งผลไปถึงอาการนอนไม่หลับ และท้องเสียง่ายอีกด้วย

 

ทั้งนี้มีปัจจัยร่วมอื่นๆ อีกมากมาย 

1. ปัจจัยด้านฮอร์โมน

ความหิวถูกควบคุมโดยฮอร์โมน 2 ชนิด คือ ฮอร์โมนเลปติน (Leptin) และ ฮอร์โมนกรีลิน (Ghrelin) โดยฮอร์โมนทั้งสองมีการทำงานที่แตกต่างกัน 

ฮอร์โมนเลปติน (Leptin)  คือ ฮอร์โมนที่มีหน้าที่ “ระงับความอยากอาหาร” เพราะจะคอยส่งสัญญาณไปยังสมองส่วน hypothalamus บอกร่างกายให้รู้ว่าเราอิ่มแล้ว 

ฮอร์โมนกรีลิน (Ghrelin) จะทำหน้าที่ตรงข้ามกัน คือจะ “กระตุ้นความอยากอาหาร” และหากเลปตินน้อย กรีลินก็จะทำงานสูงขึ้น ทำให้กินแล้วไม่รู้สึกอิ่ม 

 

2. พฤติกรรมการทานอาหาร

คนกินช้า เคี้ยวช้า มีแนวโน้มที่จะ “กินอาหารแล้วไม่อ้วน” มากกว่าคนเคี้ยวเร็ว เพราะการเคี้ยวช้าๆ เป็นการเพิ่มเวลาให้สมองสามารถส่งสัญญาณไปบอกร่างกายว่าอิ่มแล้วนั่นเอง

 

3. พฤติกรรมการนอนหลับ

คนที่นอนหลับดีและเพียงพอในแต่ละคืนจะ มีระดับฮอร์โมนในร่างกายที่ค่อนข้างสมดุล กว่าคนนอนน้อย ขณะเดียวกันคนที่นอนน้อย หรืออดนอนจะส่งผลให้มีระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) และ ฮอร์โมนกรีลิน (Ghrelin) ที่ทำให้อยากอาหารเพิ่มสูงขึ้นด้วย

 

ยีนของเรามีบทบาทในการกำหนดน้ำหนักตัวของเรา แต่ก็ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ควบคุมน้ำหนักได้ รูปแบบการนอน นิสัยการใช้ชีวิต ระดับการดื่มแอลกอฮอล์ การเลือกอาหาร การออกกำลังกาย ล้วนกำหนดน้ำหนักตัวของคุณ ดังนั้น หากคุณต้องการลดน้ำหนักอย่างจริงจัง อย่ามุ่งเน้นแค่การกินน้อยลงหรือเคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น แต่ควรปรับเปลี่ยนนิสัยการใช้ชีวิตของคุณ วิธีนี้จะช่วยให้คุณลดน้ำหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพและสุขภาพโดยรวมของคุณก็จะดีขึ้นด้วย

 

ทั้งนี้การกินเยอะแต่ไม่อ้วนขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัย ทั้งด้านร่างกาย ฮอร์โมน และการใช้ชีวิต ไม่ได้เป็นเพียงสัญญาณบอกโรคร้ายเท่านั้น สาว ๆ ไซส์เล็กที่ กินเยอะแต่ไม่อ้วน ก็ไม่ต้องเครียดจนเกินไป แต่อย่างไรก็ตามการกินแล้วอ้วนหรือไม่อ้วนนั้น ไม่สำคัญเท่ากินอย่างไรให้มีสุขภาพดี การกินอาหารที่ดี เพียงพอต่อร่างกายในแต่ละวัน และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้คุณมีสุขภาพที่ดีได้ 

และอย่าลืมว่าการสร้างหุ่นที่ดีนั้นก็ต้องอาศัย การทานอาหารที่เหมาะสม และเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และการออกกำลังที่ถูกต้องและเหมาะสมกับแต่ละบุคคล