รู้จัก "โรคฝีดาษลิง" สายพันธุ์รุนแรง "clade 1b" ระบาดใน ดีอาร์คองโก
กรมควบคุมโรค เผยอย่ากังวลฝีดาษวานร “clade 1b” ในแอฟริกา แม้เป็นสายพันธุ์รุนแรง พบในเด็ก แต่ยังไม่มีรายงานในประเทศไทย แนะคนเดินทางไปแอฟริกา หรือ “ดีอาร์คองโก” ดูแลสุขอนามัย ขณะที่เว็บไซต์ คร.เผยข้อมูลฝีดาษวานรพบมาก 10 จังหวัด
สถานการณ์โรคติดเชื้อฝีดาษวานรที่กำลังระบาดทั่วโลก โดยเฉพาะทวีปแอฟริกาฝีดาษวานร มี 2 สายพันธุ์ โดย กรมควบคุมโรค เปิดเผยข้อมูลว่าขณะนี้ฝีดาษวานรแบ่งออกเป็น 2 สายพันธ์ ได้แก่ สายพันธุ์ที่เรียกว่า clade 1 (เคลท1) หรือ สายพันธุ์แอฟริกากลาง ที่มีความรุนแรง อาจถึงขั้นเสียชีวิต พบการระบาดในแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันออกเป็นหลัก มีอัตราการป่วยตายสูง ยังไม่พบในประเทศไทย และ สายพันธุ์ clade 2 หรือ สายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก
มีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์แอฟริกากลางมาก ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ในไทยและในหลายประเทศทั่วโลก อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โรคทั่วโลก (2022-2024) ป่วยยืนยันสะสม 99,176 ราย เสียชีวิตสะสม 208 ราย ส่วนสถานการณ์ในแอฟริกา(2022-2024) ป่วยสะสม 14,250 ราย (ยืนยัน 2,745 ราย) เสียชีวิตสะสม 456 ราย
สายไทยแตกต่างจากสายพันธุ์แอฟริกา
สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย พบป่วยยืนยันสะสมสายพันธุ์ เคลท 2 จำนวน 827 ราย เสียชีวิตสะสม 11 ราย ( ข้อมูลตั้งแต่ม.ค.-10 ส.ค.67 140ราย) พบมากในเพศชาย 97.46% และเพศหญิง 2.54% การระบาดฝีดาษวานร ในประเทศไทย และแอฟริกาจะแตกต่างกัน อย่างในแอฟริกาจะพบในเด็กมากกว่า และคนละสายพันธุ์กับประเทศไทย โดยไทยเป็นสายพันธุ์เคลท 2 ความรุนแรงก็แตกต่าง โดยของไทยไม่เท่าแอฟริกา อย่างไรก็ตาม จำนวนคนไข้ฝีดาษวานรในไทยน้อยกว่า ปีที่ผ่านมา เนื่องจากกรมควบคุมโรคมีการรณรงค์ให้ข้อมูลกับกลุ่มเสี่ยงมาตลอด และไทยมีระบบเฝ้าระวังสายพันธุ์ที่แอฟริกา ขณะนี้ยังไม่พบ และยังไม่จำเป็นต้องห้ามการเดินทางแต่อย่างใด” กรณีสายพันธุ์ เคลท 2 ซึ่งยังเป็นโรคอุบัติใหม่ที่พบมาในช่วง 1-2 ปี
หากคนไทยเดินทางไปยังประเทศแถบแอฟริกา หรือพื้นที่เสี่ยงก็ต้องระมัดระวังตัวเอง หากกลับมาแล้วมีอาการไม่สบายตัวภายใน 1 สัปดาห์ต้องรีบไปพบแพทย์ และแจ้งประวัติการเดินทาง ข้อมูลต่างๆ ซึ่งทางแพทย์ในสถานพยาบาลจะมีการวินิจฉัย และจะส่งข้อมูลมายังส่วนกลาง ที่กรมควบคุมโรคตามขั้นตอนต่อไป
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในดีอาร์ คองโก พบในเด็กมากขึ้น ต้องย้ำว่า เป็นสายพันธุ์เคลท 1 ที่พัฒนาความรุนแรงเป็น เคลท1b แต่เป็นสายพันธุ์ที่ไม่พบในไทย โดยสายพันธุ์แอฟริกาที่เกิดขึ้นมาจากสัตว์ป่า เพราะคนแอฟริกาจะออกไปทำมาหากิน จับสัตว์ป่าก็ทำให้ติดเชื้อ เมื่อไวรัสปรับตัวก็รุนแรงและแพร่เชื้อได้ จากการที่เป็นเชื้ออุบัติใหม่ของประเทศเขา ทำให้รุนแรงมากขึ้น
10 จังหวัด พบฝีดาษวานรสูงสุด
ข้อมูลจากเว็บไซต์กรมควบคุมโรคเผยสถานการณืโรคติดเชื้อฝีดาษวานร (Mpox) เกี่ยวกับแต่ละจังหวัดในประเทศไทย พบว่ามี 10 จังหวัดติดเชื้อสูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร ยอดรวมสะสม 441 ราย รองลงมา คือ จ.ชลบุรี 78 ราย นนทบุรี 42 ราย สมุทรปราการ 31 ราย ภูเก็ต 31 ราย ระยอง 25 ราย ปทุมธานี 25 ราย เชียงใหม่ 23 ราย สงขลา 12 ราย และขอนแก่น 12 ราย