เปิด 7 วิธีแก้อาการนอนกรน ทำง่ายๆแค่ปรับพฤติกรรมอย่างถูกวิธี
แม้นอนกรนจะเป็นปัญหาที่ดูเหมือนไม่รุนแรง แต่ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ การนอนกรนรักษาได้หากรู้สาเหตุที่แท้จริง เปิด 7 วิธีแก้อาการนอนกรน ทำง่ายๆปรับพฤติกรรมอย่างถูกวิธี
ปัญหานอนกรน เชื่อว่าเป็นปัญหากระทบคนนอนข้างๆอย่างแท้จริงเพราะตัวคนกรนหลับแต่คนนอนข้างๆได้ยินเสียงกรนจนนอนไม่หลับ ซึ่งจริงๆแล้ว นอนกรนอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุแต่สามารถบรรเทาได้ หากรู้จักวิธีดูแลช่องทางเดินหายใจให้กลับมาทำงานได้อย่างปกติและไม่กระทบต่อการหายใจขณะหลับ
เปิด 7 วิธีแก้อาการนอนกรน ทำง่ายๆปรับพฤติกรรมอย่างถูกวิธี
1. ลดน้ำหนัก
ไม่ใช่แค่ผู้ป่วยโรคอ้วนเท่านั้นที่มักจะนอนกรน คนที่มีน้ำหนักมากเกินก็มีโอกาสที่จะนอนกรนหากมีไขมันสะสมที่ลำคอด้านในเป็นจำนวนมาก เพราะจะส่งผลให้เนื้อเยื่อที่ลำคอด้านบนอวบและนุ่มขึ้น เมื่อนอนลงจะทำให้เนื้อเยื่อนี้พับตกลงไปพบกับโคนลิ้นที่ลดต่ำลงกีดขวางทางเดินหายใจ ตามมาด้วยเสียงกรนในที่สุด
2. เลิกสูบบุหรี่
การสูบบุหรี่ โดยทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนอักเสบจนแคบและตีบลง การวิจัยหนึ่งได้สำรวจชายและหญิงกว่า 15,000 คน อายุ 24–54 ปี พบว่าร้อยละ 24 ของคนที่นอนกรนมีพฤติกรรมสูบบุหรี่ อีกร้อยละ 20 ของคนที่นอนกรนเคยสูบบุหรี่มาก่อน ส่วนร้อยละ 14 ไม่เคยสูบบุหรี่ ยิ่งสูบบุหรี่มากเท่าไรก็ยิ่งกรนบ่อยขึ้นเท่านั้น
3. หมั่นทำความสะอาดที่นอน
การระคายเคืองจากสารก่อภูมิแพ้มักตามมาด้วยอาการเยื่อบุทางเดินหายใจอักเสบ ฉะนั้น จึงควรกำจัดฝุ่น ไร ต่าง ๆ ที่สะสมในหมอน ผ้าห่ม และที่นอนอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงการให้สัตว์เลี้ยงเข้าห้องนอน เพื่อไม่ให้อาการภูมิแพ้แย่ลงและป้องกันการประสบปัญหานอนกรน
4. งดยานอนหลับ
ฤทธิ์ในการช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายและหลับสบายในยานอนหลับบางชนิดก็มีส่วนทำให้กล้ามเนื้อใกล้บริเวณทางเดินหายใจอย่างเพดาน ลิ้น คอ และคอหอยอ่อนตัวลงจนเคลื่อนต่ำลงมา ขณะเดียวกันทางเดินหายใจก็ผ่อนตัวคลายไปด้วยจนแคบลง ส่งผลให้เกิดการสั่นของเนื้อเยื่อมากขึ้นเมื่อหายใจ หากต้องการใช้ยาใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์ถึงผลข้างเคียงด้วย
5. เลี่ยงแอลกอฮอล์
การดื่มแอลกอฮอล์ก่อนนอนจะส่งผลให้กล้ามเนื้อหลังคอหอยอ่อนตัวลงยามหลับ ทางเดินหายใจแคบลงและอากาศผ่านเข้าลำบาก เพื่อหลีกเลี่ยงการกรนที่ไม่พึงประสงค์ จึงควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดก่อนนอนอย่างน้อย 4–5 ชั่วโมง
6. ดื่มน้ำเยอะ ๆ
การกรนที่เกิดจากไข้หวัดหรือภูมิแพ้ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้หายใจไม่สะดวก เนื่องจากมีน้ำมูกมาปิดกั้น จึงต้องใช้การหายใจทางปากแทน ส่งผลให้กรนหรือเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้ง่าย การดื่มน้ำสามารถช่วยลดความความเข้มข้นของน้ำมูกที่จะเกิดขึ้นขณะหลับ ทำให้หายใจคล่องขึ้นและกรนน้อยลง
7. นอนในท่าตะแคง
การนอนหงายจะส่งผลให้กรนบ่อยและกรนดังขึ้นไปอีก ด้วยโคนลิ้นและเพดานอ่อนที่พับตกไปผนังคอด้านหลัง เมื่อหายใจก็ย่อมตามมาด้วยการสั่นสะเทือนจนเกิดเสียงกรนสนั่น การเปลี่ยนท่าเป็นนอนตะแคงจึงอาจช่วยได้ในระดับหนึ่งเลยทีเดียว
อย่าละเลยอาการนอนกรน เพราะคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย หมั่นสำรวจอาการ ปรึกษาแพทย์ และพยายามขจัดปัจจัยเสี่ยงทั้งหลาย เพียงเท่านี้ก็โบกมือลาปัญหาน่ารำคาญใจอย่างการนอนกรนไปได้เลย