ไลฟ์สไตล์

รู้จัก "โรคลมหลับ" นอนเท่าไรก็ไม่พอ ความผิดปกติจากการนอนหลับแบบเรื้อรัง

20 ส.ค. 2567

อาการง่วงเหงาหาวนอน นอนเท่าไรก็ไม่พอ เผลอหลับโดยไม่รู้ตัว ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนจาก "โรคลมหลับ" ความผิดปกติจากการนอนหลับแบบเรื้อรัง

โรคลมหลับ คือ ปัญหาเรื่องการนอนหลับเรื้อรัง ที่มีอาการง่วงนอนตอนกลางวันมากผิดปกติ และรู้สึกง่วงนอนโดยฉับพลัน การทำให้ตัวเองรู้สึกตัวตื่นอยู่กลายเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ป่วยโรคลมหลับ โรคลมหลับมักทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิด cataplexy ซึ่งเป็นการสูญเสียแรงกล้ามเนื้ออย่างเฉียบพลัน เป็นอาการที่ถูกกระตุ้นโดยอารมณ์รุนแรง ปัจจุบันยังไม่พบวิธีรักษาโรคลมหลับ แต่เราสามารถดูแลอาการได้โดยการรับประทานยา การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต

 

รู้จัก \"โรคลมหลับ\" นอนเท่าไรก็ไม่พอ ความผิดปกติจากการนอนหลับแบบเรื้อรัง

โรคลมหลับ  คนที่เป็นมักมีอาการง่วงนอนมากผิดปกติและหลับในตอนกลางวันโดยไม่สามารถฝืนให้ตื่นได้ เช่น ในขณะรับประทานอาหาร เรียน ทำงาน ประชุม ขับรถ หลังหลับจะมีอาการดีขึ้น แต่จะรู้สึกง่วงอีกครั้งในระยะเวลาไม่นานและสามารถหลับได้อีกหลายครั้งต่อวัน 

  • เผลอหลับร่วมกับมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง คอตก ล้มพับลงกับพื้น (Cataplexy)  เกิดในขณะที่มีอารมณ์เปลี่ยนแปลง เช่น เครียด หัวเราะ ตกใจ เศร้า
  • ไม่สามารถขยับร่างกายได้ช่วงใกล้ตื่นนอน หรือที่เรียกว่า ผีอำ (Sleep paralysis)
  • มีภาพหลอนขณะกึ่งหลับกึ่งตื่น (Hypnagogic hallucination)
  • มีอาการอื่นๆ เช่น ปวดศีรษะ ซึมเศร้า หลงลืม ขาดสมาธิ  อ่อนเพลีย

 

ประเภทของโรคลมหลับ

  • โรคลมหลับประเภทที่ 1 เป็นโรคลมหลับพร้อมกับมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิด cataplexy
  • โรคลมหลับประเภทที่ 2 เป็นโรคลมหลับที่ไม่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง

 

รู้จัก \"โรคลมหลับ\" นอนเท่าไรก็ไม่พอ ความผิดปกติจากการนอนหลับแบบเรื้อรัง

การใช้ยารักษาโรคลมหลับ

การใช้ยามีวัตถุประสงค์เพื่อลดอาการง่วงนอนตอนกลางวันที่มากเกินไปและเพิ่มความตื่นตัว

  • ยากระตุ้น เช่น โมดาฟินิล (modafinil) และอาร์โมดาฟินิล (armodafinil) เพื่อกระตุ้นให้ผู้ป่วยตื่นในตอนกลางวัน โดยอาจมีผลข้างเคียง เช่น อาการวิตกกังวล ปวดศีรษะและคลื่นไส้ แต่มักพบได้น้อย
  • ยาโซเดียมออกซีเบต (Sodium oxybate) สามารถรักษาโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิด cataplexy ได้อย่างมีประสิทธิภาพและช่วยเรื่องการนอนในตอนกลางคืน
  • ยาต้านเศร้ากลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclic antidepressants) เช่น ยาอิมิพรามีน (imipramine) ยาโพรทริปไทลีน (protriptyline) และยาโคลมิพรามีน (clomipramine) มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิด cataplexy แต่อาจทําให้เกิดผลข้างเคียง เช่น วิงเวียนศีรษะและปากแห้ง
  • ในขณะที่รับประทานยาเหล่านี้ ควรหลีกเลี่ยงยาหรือผลิตภัณฑ์แก้แพ้ (antihistamine) เพราะยาแก้แพ้จะต้านฮีสตามีน ซึ่งเป็นสารที่ทำให้สมองตื่นตัว
     

รู้จัก \"โรคลมหลับ\" นอนเท่าไรก็ไม่พอ ความผิดปกติจากการนอนหลับแบบเรื้อรัง

 

การปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต

การปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตสามารถช่วยจัดการกับอาการของโรคได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีนิสัยการนอนหลับที่ดีและทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ นอนหลับและตื่นเวลาใกล้เคียงกันทุกวัน หลีกเลี่ยงการนอนดึกในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ทําให้ห้องนอนเป็นสถานที่ที่เหมาะต่อการนอนหลับ สภาพแวดล้อมในห้องนอนควรมืด เงียบ เย็นสบาย และสะดวกสบาย นำทีวี คอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์ไปไว้นอกห้องนอน กำหนดกิจวัตรก่อนนอน เช่น อาบน้ำอุ่น นั่งสมาธิ หรือฟังเพลงเบา ๆ ก่อนเข้านอน เป็นต้น หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน การสูบบุหรี่ หรือการรับประทานอาหารหรือน้ำในปริมาณมากก่อนนอน

 

รู้จัก \"โรคลมหลับ\" นอนเท่าไรก็ไม่พอ ความผิดปกติจากการนอนหลับแบบเรื้อรัง