ทำไมถึง "กะพริบตาบ่อย" เรื่องปกติ หรือเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพ
การกะพริบตาเป็นกลไกของร่างกายทั่วไป แต่หากมีอาการกะพริบตาบ่อยเกินไปก็อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพด้วยเช่นกัน
การกะพริบตาเป็นกลไกของร่างกายในการปกป้องดวงตา ซึ่งมักจะเกิดขึ้นอย่างอัตโนมัติเมื่อดวงตาแห้งหรือมีสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ดวงตา อาการกะพริบตาบ่อยสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ดังนี้
1. อาการระคายเคืองตา
ผู้ที่กะพริบตาบ่อยอาจมีสาเหตุมาจากการระคายเคืองตา โดยอาจเกิดจากการที่ตาแห้งหรือการมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปภายในดวงตา ไม่ว่าจะเป็นขนตา ฝุ่น หรือสิ่งสกปรก ทำให้ต้องกะพริบตาบ่อยเพื่อกระตุ้นการหลั่งน้ำตาออกมาเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ดวงตา หรือเพื่อขจัดสิ่งแปลกปลอมออกจากดวงตา
2. ปัญหาสายตา
ปัญหาสายตาไม่ว่าจะเป็นสายตาสั้น สายตายาว หรืออาการตาเหล่ สามารถทำให้เกิดอาการกะพริบตาบ่อยได้ เพราะหากปัญหาเหล่านี้ไม่ได้รับการรักษาหรือแก้ไขอย่างเหมาะสม เช่น การใส่แว่นสายตา หรือการผ่าตัดเพื่อแก้ปัญหาสายตา จะทำให้เกิดอาการกะพริบตาบ่อย และอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันด้วย
3. โรคตาแห้ง
การกะพริบตาบ่อยอาจมีสาเหตุมาจากโรคตาแห้ง โดยมีสาเหตุหลายประการที่ทำให้เกิดโรคตาแห้ง เช่น การมีอายุเกิน 50 ปี การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยาบางชนิด การใส่คอนแทคเลนส์ การอยู่ในที่ที่มีอากาศแห้ง หนาวเย็น มีลมแรง หรือมีฝุ่นมาก รวมถึงในอาคารที่มีการเปิดแอร์ตลอดเวลาด้วย ซึ่งสาเหตุเหล่านี้อาจส่งผลให้เกิดอาการกะพริบตาบ่อยได้
4. การใช้สายตามากเกินไป
การใช้สายตามากเกินไป เช่น การอ่านหนังสือเป็นเวลานาน การจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ รวมถึงการอยู่ในที่ที่มีแสงจ้าหรือแสงกะพริบเป็นเวลานาน จะทำให้ดวงตาเกิดอาการตาแห้ง ตาล้า ปวดเมื่อยดวงตา และอาจทำให้เกิดอาการกะพริบตาบ่อยตามมาได้
5. อาการภูมิแพ้
การกะพริบตาบ่อยอาจเกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายที่ตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ที่เข้ามาภายในดวงตา เช่น ฝุ่น ละอองเกสรดอกไม้ สะเก็ดผิวหนังของสัตว์ ทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ขึ้นตา ซึ่งจะมีอาการตาแดง คันตา น้ำตาไหล และกะพริบตาบ่อยเกิดขึ้น นอกจากนี้ ภาวะเยื่อบุตาอักเสบซึ่งมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย ก็อาจทำให้เกิดอาการกะพริบตาบ่อยได้เช่นกัน
6. ปัญหาสุขภาพบางอย่าง
โรคหรือปัญหาสุขภาพบางอย่างที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อดวงตาที่ผิดปกติ อาจเป็นสาเหตุของอาการกะพริบตาบ่อยได้ โดยมักเป็นโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของระบบประสาทและการเคลื่อนไหว เช่น โรคพาร์กินสัน โรคหนังตากระตุก กลุ่มอาการทูเร็ตต์ (Tourette Syndrome) กลุ่มอาการยึกยือ (Tardive Dyskinesia) หรือโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis)
วิธีรับมืออาการกะพริบตาบ่อยง่ายๆ ด้วยตัวเอง
- หากมีอาการตาแห้งอาจใช้น้ำตาเทียมหยอดตา เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ดวงตา
- หากมีอาการภูมิแพ้ขึ้นตาหรืออาการเยื่อบุตาอักเสบ อาจใช้ยาหยอดตาเพื่อช่วยบรรเทาอาการ
- หลีกเลี่ยงการใช้สายตาติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยควรกำหนดเวลาพักสายตาจากการอ่านหนังสือหรือการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีแสงจ้า รวมถึงที่ที่มีสิ่งสกปรกอย่างฝุ่น ควัน หรือมลภาวะ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการตาแห้ง ตาล้า หรืออาการระคายเคืองในดวงตา
- เข้ารับการตรวจวัดสายตาอย่างสม่ำเสมอและแก้ไขอย่างเหมาะสมหากมีปัญหาสายตา เช่น การใส่แว่นสายตา หรือการทำเลสิก
หากมีอาการกะพริบตาบ่อยมากเกินไปจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น รบกวนการมองเห็น หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆ เกิดขึ้นกับดวงตาไม่ว่าจะเป็นอาการตาแดง ปวดตา น้ำตาไหล ตาอักเสบ มีอาการบาดเจ็บหรือมีแผลบริเวณกระจกตา รวมถึงมีปัญหาในการมองเห็น อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพ
ที่มา pobpad