ไลฟ์สไตล์

เช็กเลย! อาการแบบไหน เป็นกรดไหลย้อนเรื้อรัง

อาการแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ ลามขึ้นมาถึงอกหรือคอ ใครบ้างที่เป็นกรดไหลย้อนอยู่ตลอด ไม่หายซักที เช็กเลย! อาการแบบไหน เป็นกรดไหลย้อนเรื้อรัง 

  1. กรดไหลย้อน หรือ GERD (Gastroesophageal Reflux Disease) สามารถเกิดได้ในทุกเพศทุกวัย ส่วนหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกต้องในชีวิตประจำวัน โรคนี้ไม่สามารถหายได้ด้วยการรับประทานยาอย่างเดียว ควรต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ ที่กระตุ้นให้มีอาการกำเริบด้วย แต่หากอาการไม่ดีขึ้น หรือเป็นเรื้อรังไม่หายขาด อาจต้องตรวจด้วยเพิ่มเติม เช่น การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง หรือแยกโรคอื่นๆ ออก

 

 

เช็กเลย! อาการแบบไหน เป็นกรดไหลย้อนเรื้อรัง

 

อาการสำคัญที่พบบ่อยในโรคกรดไหลย้อน 

  • ความรู้สึกแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ กลางหน้าอก ซึ่งมักเกิดหลังรับประทานอาหารเสร็จใหม่ๆ
  • ความรู้สึกเปรี้ยวหรือขมในปากและคอ
  • มีอาหารย้อนขึ้นมาในปากและคอ
  • จุกเสียด แน่นท้องบริเวณลิ้นปี่

 


โรคกรดไหลย้อนยังก่อให้เกิดอาการอื่นๆได้อีก

  • อาการเจ็บหน้าอกที่ไม่ได้เกิดจากโรคหัวใจ
  • เสียงแหบเรื้อรัง เสียงเปลี่ยน
  • ไอเรื้อรังโดยไม่มีสาเหตุชัดเจน
  • กลืนติดขัดเหมือนมีก้อนจุกในคอ
  • อาการทางช่องปาก เช่น ฟันผุ มีกลิ่นปาก
  • โรคหืดที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาตามปกติ

 

เช็กเลย! อาการแบบไหน เป็นกรดไหลย้อนเรื้อรัง

เมื่อไรถึงเรียกว่าเป็นกรดไหลย้อนเรื้อรังไม่หายขาด (Refractory GERD)

ผู้ป่วยที่มีอาการของกรดไหลย้อนอยู่ตลอด หลังกินยาลดกรดขนาดปกติ มากกว่าหรือเท่ากับ 8 สัปดาห์ อาการก็ยังไม่ทุเลา จำเป็นต้องตรวจด้วยวิธีอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อค้นหาสาเหตุที่ผู้ป่วยมีอาการไม่หายซักทีเป็นจากกรดไหลย้อนจริงๆที่ยังควบคุมไม่ได้ หรือเป็นจากสาเหตุอื่นๆ โดยมีวิธีดูแลรักษาผู้ป่วยกรดไหลย้อนที่มีอาการเรื้อรังไม่หาย ดังนี้

สิ่งแรกที่ควรทำ คือ ตรวจสอบให้แน่ชัดว่าได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดูแลเรื่องการรับประทานอาหาร และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดกรดไหลย้อน ตามที่แพทย์แนะนำครบหรือยัง การจะรักษากรดไหลย้อนให้หายขึ้นกับยาซึ่งเป็นบทบาทของแพทย์ และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมซึ่งเป็นบทบาทของผู้ป่วยร่วมกัน

 

ปรับยากรดไหลย้อน

ย้อนกลับไปดูว่ารับประทานยาครบตามที่แพทย์สั่งหรือไม่ ซึ่งมีการศึกษาวิจัยพบว่าผู้ป่วยกรดไหลย้อน 40% ไม่ได้รับประทานยาครบตามที่แพทย์สั่ง บางครั้งอาการดีขึ้นก็หยุดรับประทานก่อนทำให้รักษาไม่ต่อเนื่อง ตรวจสอบว่าเราทานยาถูกต้องหรือไม่ ยาลดกรด (PPI) จะออกฤทธิ์ได้ดีที่สุดถ้าทานก่อนมื้ออาหาร ซึ่งมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่รับประทานผิด คือ หลังอาหาร หรือก่อนนอน ลองปรึกษาแพทย์เรื่องปรับยาลดกรด (PPI) สำหรับผู้ป่วยที่ทานยาลดกรดแล้วไม่ดีขึ้น แพทย์อาจพิจารณาเพิ่มขนาดยาขึ้นจากวันละหนึ่งครั้ง เป็นวันละสองครั้ง หรือเลือกเปลี่ยนตัวยาลดกรด เป็นยาลดกรดตัวอื่น (Switching PPI)ปรึกษาแพทย์พิจารณาเพิ่มยากลุ่มอื่นๆ นอกจากลดกรดที่อาจจะช่วยลดอาการได้ แพทย์จะพิจารณาจ่ายยาที่เหมาะสมให้ผู้ป่วยเป็นรายๆ ไป

 

เช็กเลย! อาการแบบไหน เป็นกรดไหลย้อนเรื้อรัง

 

ผู้ป่วยที่มีอาการทางหลอดอาหารของโรคกรดไหลย้อน

เช่น แสบร้อนอก เรอเปรี้ยว แนะนำให้ส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบนเพื่อหาโรคอื่นๆ ที่อาจซ่อนอยู่ และทำให้เกิดอาหารเหล่านี้ได้ โดยประโยชน์อีกอย่างของการส่องกล้อง คือ ช่วยประเมินความรุนแรงของกรดไหลย้อน เช่น มีเยื่อบุหลอดอาหารอักเสบจากกรดไหลย้อน ประเมินหูรูดระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหารว่าหย่อนหรือไม่

ปรึกษาแพทย์หูคอจมูกหรือแพทย์โรคภูมิแพ้ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการนอกหลอดอาหารของโรคกรดไหลย้อน เช่น กรดไหลย้อนขึ้นมาระคายเคืองคอเสียงแหบไอบ่อยแนะนำปรึกษาแพทย์หูคอจมูก หรือแพทย์โรคภูมิแพ้ มาช่วยตรวจว่าอาการดังกล่าวข้างต้น มีสาเหตุมาจากกรดไหลย้อนไม่ได้มีโรคทางหูคอจมูกซ่อนอยู่

ตรวจดูด้วยเครื่องมือพิเศษว่ามีกรดหรือน้ำย่อยที่ไม่ใช่กรดไหลย้อนขึ้นมาหรือไม่ (Reflux and pH monitoring) สำหรับผู้ป่วยที่ดูแลรักษาตัวและตรวจตามขั้นตอนที่กล่าวไปแล้วข้างต้น แต่ยังตรวจไม่เจออะไรและอาการกรดไหลย้อนยังไม่หายแพทย์อาจพิจารณาส่งตรวจวิธีนี้เพิ่มเติม การตรวจด้วยวิธีนี้อาจได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์หลายอย่าง 

 

มีกรดไหลย้อนขึ้นมาทางเดินอาหารจริงหรือไม่

ถ้าไม่มีกรดไหลย้อน มีน้ำย่อยหรืออย่างอื่นที่ไม่ใช่กรดไหลย้อนขึ้นมาหรือไม่ หลังทานยาลดกรดแล้วยาสามารถยับยั้งกรดได้หรือไม่ กรดหรือน้ำย่อยที่ไหลย้อนขึ้นมาสัมพันธ์กับอาการของผู้ป่วยหรือไม่ ซึ่งข้อมูลต่างๆ เหล่านี้อาจมีผลช่วยเลือกการรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยเป็นรายๆ ต่อไป

 

การผ่าตัด…อีกทางเลือกในการรักษากรดไหลย้อน

ในการเริ่มต้นการรักษา “โรคกรดไหลย้อน” ผู้ป่วยมักเลือกวิธีการทานยาลดกรดเพื่อลดอาการ หากติดตามอาการแล้วพบว่าผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษา หรือผู้ป่วยที่ไม่ต้องการทานยาเพื่อควบคุมอาการไปตลอด “การผ่าตัดหูรูดอาหาร” จึงเป็นอีกทางเลือกในการรักษากรดไหลย้อน…ที่สามารถแก้ปัญหาที่ต้นเหตุและตรงจุด! แต่ทั้งนี้จะต้องทำ “แบบทดสอบ”ก่อนที่ผู้ป่วยจะเข้ารับการผ่าตัดหูรูดกระเพาะอาหาร อย่างไรก็ตาม การรักษากรดไหลย้อนควรปรึกษาแพทย์เพื่อเลือกการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วย เพราะแต่ละคนอาจมีรายละเอียดของโรคที่ไม่เหมือนกัน หากมีอาการที่บ่งบอกถึงโรคนี้อย่าปล่อยไว้เรื้อรัง ควรเข้ามาพบแพทย์

 

 

เช็กเลย! อาการแบบไหน เป็นกรดไหลย้อนเรื้อรัง

ข่าวยอดนิยม