กินยาแก้เวียนหัว ฟลูนาริซีนบ่อยๆ เสี่ยงเป็นพาร์กินสัน จริงหรือ?
กินยาผิดชีวิตเปลี่ยน! ยาฟลูนาริซีน (Flunarizine) แก้เวียนหัว หากกินอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดโรคพาร์กินสันและเสี่ยงพิการเดินไม่ได้ จริงหรือ?
ตามที่มีการบอกต่อเกี่ยวกับเรื่องรับประทานยาฟลูนาริซีนต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดโรคพาร์กินสันและเสี่ยงพิการเดินไม่ได้ พบว่าข้อมูลดังกล่าว เป็นข้อมูลจริง การรับประทานยาแก้เวียนหัวฟลูนาริซีน (Flunarizine) อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 6 เดือน จนถึง 1 ปี อาจทำให้เกิดอาการสั่นเหมือนเป็นโรคพาร์กินสัน และอาจทำให้เกิดความพิการเดินไม่ได้ไปตลอดชีวิต
โดย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ตรวจสอบข้อมูลของโรคพาร์กินสัน และข้อมูลของการใช้ยาฟลูนาริซีน พบว่า โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของเซลล์ประสาทบริเวณก้านสมอง ทำให้การผลิตสารที่ชื่อว่า โดพามีน (Dopamine) ลดลงส่งผลให้เกิดอาการสั่น เสียการทรงตัว ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่ชัดเจนของการเสื่อมของเซลล์ประสาทดังกล่าวว่า มาจากสาเหตุใด ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา เช่น กรณีของนักมวยชื่อดังอย่างมูฮัม หมัด อาลีหรือการรับประทานยาบางชนิด
ยาฟลูนาริซีน (flunarizine) เป็นยาในกลุ่มยาต้านไมเกรน ใช้เพื่อป้องกันโรคไมเกรนและบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ โดยยาจะออกฤทธิ์ขยายหลอดเลือดในสมองและปรับระดับสารสื่อประสาทบางชนิดในสมอง ทำให้สามารถบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ รวมถึงลดความถี่ในการเกิดไมเกรนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ยาฟลูนาริซีนมีการระบุคำเตือนในการใช้ยาในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวว่า ยาอาจส่งผลต่อโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ จึงจำเป็นต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ ซึ่งโรคประจำตัวดังกล่าวก็มีโรคพาร์กินสันรวมอยู่ด้วย
มีการศึกษาที่ระบุการใช้ยาฟลูนาริซึนว่า จะส่งผลให้เกิดโรคพาร์กินสันหรือไม่ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวได้จากงานวิจัยการประกันสุขภาพแห่งชาติของไต้หวัน โดยศึกษาจากกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาฟลูนาริซีน หรือ ซินนาริซีน (cinnarizine) มากกว่า 1 เดือน ในระหว่างปี ค.ศ. 2000 ถึง 2005 ผลการศึกษาพบว่า ยาฟลูนาริซีน และยาซินนาริซีน ส่งผลให้เกิดโรคพาร์กินสันอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งแพทย์ที่
เป็นผู้รักษาผู้ป่วยด้วยยาดังกล่าว จะต้องตรวจสัญญาณเริ่มต้นของโรคพาร์กินสันอย่างระมัดระวัง