หลากหลายสาเหตุโรคไต ที่เป็นได้แม้ไม่ต้องกินเค็ม
“โรคไต” สาเหตุการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เนื่องจากผู้ป่วยระยะแรกมักไม่แสดงอาการผิดปกติใดๆ สาเหตุของการเป็นโรคไตไม่ใช่แค่กินเค็มเท่านั้น แต่หมายถึงพฤติกรรมการกิน และอาหารอีกนานาชนิด
คำว่า “ไม่กินเค็ม” ไม่ได้หมายความเพียงแค่ “การลดปริมาณเกลือและน้ำปลา” ในอาหารเท่านั้น เพราะในชีวิตประจำวันเรายังมีอาหารอีกหลายประเภทที่มี “ความเค็ม” และ “โซเดียม” ในตัว ซึ่งบางทีก็ไม่ได้ให้รสชาติเค็มเสมอไป ทำให้เมื่อรับประทานเข้าไปแล้ว ก็จะไปเพิ่มปริมาณความเค็มในร่างกาย และทำให้ไตทำงานหนักจนเกิดเป็นความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไตได้ในที่สุด
ควรควบคุมปริมาณการบริโภคสิ่งเหล่านี้ให้ดีเพื่อลดโอกาสในการเสี่ยงเป็นโรคไต
น้ำจิ้ม น้ำราด ซอสทั้งหลาย ล้วนแต่มีส่วนผสมของเกลืออยู่ ทุกครั้งที่เรานำอาหารจิ้มกับน้ำเหล่านี้ จึงเท่ากับเพิ่มปริมาณความเค็มในร่างกายขึ้นอีกเท่าหนึ่ง ยิ่งจิ้มเยอะ ราดเยอะ ก็ยิ่งได้รับความเค็มมากขึ้นเท่านั้น
อาหารกระป๋อง อาหารหมักดอง เนื้อสัตว์แปรรูป อาทิ แฮม ไส้กรอก หมูหยอง หมูแผ่น ฯลฯ อาหารเหล่านี้ได้รับการปรุงรสโดยมีความเค็มอยู่แล้วในตัวเอง ยิ่งเมื่อเรารับประทานคู่กับน้ำจิ้ม น้ำซอสเข้าไปอีก ก็จะยิ่งทำให้ปริมาณความเค็มในร่างกายเพิ่มเป็นเท่าตัว
ขนมปัง แม้จะไม่ได้มีรสชาติเค็ม แต่หากเราสังเกตให้ดีในฉลากโภชนาการ จะพบว่าขนมปังนั้นเป็นอาหารที่มีโซเดียมสูงกว่าข้าว เพราะ ในขนมปังมีผงฟู และผงฟูคือเกลือชนิดหนึ่ง ดังนั้น การรับประทานขนมปังมากๆ รับประทานขนมปังแทนข้าว ก็มีโอกาสได้รับเกลือเกินได้
ขนมคบเคี้ยว ขนมอบกรอบ ถือเป็นหนึ่งในของทานเล่นที่ได้รับความนิยม หากแต่ 1 ถุงเล็กๆ ของขนมบางชนิดนั้นเต็มไปด้วยปริมาณโซเดียมที่มากกว่าอาหารทั้งมื้อด้วยซ้ำไป ดังนั้น การรับประทานขนมคบเคี้ยวนอกมื้ออาหารบ่อยๆ จึงเป็นการทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อโรคไตมากขึ้น
พฤติกรรมทำร้าย “ไต” ทั้งที่ไม่ได้กินเค็ม
ทานอาหารรสจัด ไม่ใช่แค่รสเค็มจัด แต่อาหารรสจัดรวมไปถึง อาหารหวานจัด เผ็ดจัด หรือแม้กระทั่งมันจัด อาหารรสจัดทำให้ไตทำงานหนักขึ้น จึงมีส่วนทำให้เป็นโรคไตได้เช่นเดียวกันกับอาหารรสเค็ม
ไม่ออกกำลังกาย การไม่ออกกำลังกายเป็นสาเหตุของหลายๆ โรค ไม่ว่าจะเป็นโรคอ้วน ไขมันอุดตันเส้นเลือด ไขมันพอกตับ เส้นเลือดอุดตัน โรคหัวใจ และอื่นๆ รวมไปถึงโรคไตด้วยเช่นกัน
ดื่มน้ำน้อย หรือมากเกินไป การดื่มน้ำน้อยเป็นสาเหตุของหลายๆ โรคเช่นกัน รวมไปถึงโรคไตด้วย เพราะไตฟอกของเสียในร่างกาย และต้องใช้น้ำเป็นตัวพาไปสู่การกรองของไตจนกลายเป็นปัสสาวะ หากดื่มน้ำมากเกินไป ไตก็จะทำงานหนักเกินไป แต่หากดื่มน้ำน้อยมากเกินไป (ซึ่งมีโอกาสมากกว่า) ก็จะทำให้ปัสสาวะมีสีเข้ม ซึ่งไม่ดีต่อไต และกระเพาะปัสสาวะด้วย
ทำงานหนักเกินไป เชื่อหรือไม่ว่าการทำงานหนักก็เป็นสาเหตุของโรคไตด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อร่างกายขาดการพักผ่อนที่เพียงพอ อวัยวะภายในร่างกายก็จะไม่ได้รับการฟื้นฟู และซ่อมแซมตัวเองอย่างเต็มที่ด้วยเช่นเดียวกัน เมื่ออวัยวะที่คอยฟอกของเสียในร่างกายอย่างไตไม่ได้หยุดทำงาน ก็อาจทำให้ไตเสื่อมสภาพลงได้ง่าย
ความเครียด ความเครียดมักมาพร้อมกับการทำงานหนัก หากเครียดมากๆ ร่างกายก็จะพักผ่อนได้ไม่เต็มที่เช่นเดียวกัน นอกจากนี้เมื่อเราเครียด เราจะหายใจเอาออกซิเจนเข้าร่างกาย เพื่อไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ได้ไม่เต็มที่ และไตก็เป็นอวัยวะที่ได้รับผลกระทบจากความเครียดด้วยเช่นกัน
ทานอาหารสำเร็จรูป แม้ว่าคุณอาจจะบอกว่าไม่ใช่คนทานเค็ม แต่หากคุณใช้ชีวิตวนเวียนอยู่กับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ข้าวกล่องในร้านสะดวกซื้อ อาหารกระป๋องต่างๆ หรือแม้กระทั่งน้ำอัดลม โซดา และเครื่องดื่มบางประเภท คุณจะได้รับโซเดียมเข้าไปในร่างกายในปริมาณสูงโดยที่คุณไม่รู้ตัว
ความดันโลหิตสูง หากใครมีอาการความดันโลหิตสูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยิ่งมีโอกาสที่จะเป็นโรคไตตามมาด้วย เพราะหากปล่อยให้เป็นความดันสูงต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่รีบรักษา ความดันโลหิตสูงนี้จะทำลายเส้นเลือดที่ไต ทำให้ไตถูกทำลาย หรืออาจเรียกว่าเป็น “ไตวายชั่วคราว”