
ใครว่าตดไม่สำคัญ! ตดบ่อย เสียงดังผิดปกติ บอกปัญหาสุขภาพได้!
ใครว่าตดไม่สำคัญ! ถึงแม้ว่าตด หรือ การผายลม อาจเป็นเรื่องปกติ แต่หากตดบ่อย มีกลิ่นแรง เสียงดังผิดปกติ นี่อาจบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพได้อีกด้วย
การผายลม หรือ การตด เป็นเพียงกระบวนการทางธรรมชาติของร่างกายในการขับไล่ลม หรือแก๊สผ่านลำไส้ใหญ่ เพราะทุกครั้งที่คุณรับประทานอาหาร ดื่มเครื่องดื่ม หรือแม้กระทั่งในระหว่างที่พูดคุยกับผู้อื่น คุณจะกลืนอากาศเข้าไปด้วยโดยไม่รู้ตัว การตดในชีวิตประจำวันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่หลายคนอาจข้องใจว่า แล้วตดบ่อยแค่ไหนถึงจะเรียกว่า ปกติ แล้วตดดังและเหม็นเป็นสัญญาณอันตรายเกี่ยวกับสุขภาพหรือไม่
โดยปกติผู้ที่มีร่างกายอุดมสมบูรณ์และแข็งแรงจะตดประมาณ 14-23 ครั้งต่อวัน ซึ่งเมื่อใช้เกณฑ์นี้เป็นตัววัดความเหมาะสม การตดมากกว่า 23 ครั้งภายใน 1 วันจึงถือว่า “ผิดปกติ” ความผิดปกติที่ว่านี้อาจเกิดจากความผิดปกติบางอย่างภายในร่างกาย การรับประทานอาหาร หรือดื่มเครื่องดื่มที่ทำให้เกิดแก๊สในร่างกายมากเกินไป โดยลักษณะของกลิ่น และเสียง ของตดอาจบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพ
ตดกับปัญหาสุขภาพที่ควรรู้
ตดมีกลิ่น เกิดจากการรับประทานที่มีเส้นใยสูง เช่น หน่อไม้ฝรั่ง กะหล่ำปลี บร็อคโคลี่ อาหารเหล่านี้ใช้เวลาค่อนข้างนานในการย่อยอาหาร อาจทำให้เกิดอาการท้องอืดได้
ตดมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ การติดเชื้อทางเดินอาหาร ส่งผลให่แก๊สมีปริมาณสูงกว่าปกติและมีกลิ่นเหม็นรุนแรง ผู้ที่มีอาการติดเชื้อทางเดินอาหารอาจมีอาการปวดท้องและท้องเสีย
ตดไม่มีกลิ่น อาจเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีโปรตีนน้อย
ภาวะ หรือความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับตด
การตดบ่อยเกินไปเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงภาวะสุขภาพภายในได้ โดยภาวะ หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับการตดมีดังต่อไปนี้
- โรคมะเร็งลำไส้ (Colon Cancer)
- โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome: IBS)
- การทำงานผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร (Functional GI Disorders)
- การแพ้อาหารที่มีส่วนประกอบของแลคโตส (Lactose) เช่น นมวัว โยเกิร์ต
- ภาวะที่เกี่ยวของกับกระเพาะอาหาร เช่น อาหารเป็นพิษ (Food poisoning)
- แผลในกระเพาะอาหาร (Peptic ulcer)
- โรคเบาหวาน (Diabetes)
- โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome: IBS)
- โรคโครห์น (Crohn’s Disease)
- โรคเซลิแอค (Celiac Disease) หรือโรคที่ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อโปรตีนกลูเตน
- โรคลำไส้อักเสบ (Ulcerative Colitis)
- โรคระบบทางเดินอาหารอักเสบ (Inflammatory Bowel Disease)
- โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease)
- โรคมะเร็งรังไข่ (Ovarian cancer)
ภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับตด
ตดเป็นกระบวนการทางธรรมชาติที่ไม่ได้ผิดปกติแต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ตาม หากตดมากขึ้นผิดปกติ และมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ร่วมด้วยดังต่อไปนี้ ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริง และหาทางรักษาโดยเร็วที่สุด
- มีเลือดปนในอุจจาระ
- มีภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้
- น้ำหนักลดอย่างหาสาเหตุไม่ได้
- ท้องเสีย
- ท้องผูก
- ท้องอืด
- มีสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น ไข้ขึ้นสูง อาเจียน ปวดกล้ามเนื้อ