กินดี ความดันลด เปิดเคล็ดลับการเลือกอาหารสำหรับผู้มี "ความดันโลหิตสูง"
เปิดเคล็ดลับการเลือกอาหารสำหรับผู้มี "ความดันโลหิตสูง" ควรกินอะไรอะไรดี พร้อมแนะแนวทางการบริโภคอาหารที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ซึ่งช่วยควบคุมความดันได้ดีขึ้น
ความดันสูง หรือความดันโลหิตสูง (Hypertension) เป็นภาวะที่พบได้บ่อยซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ภาวะนี้สามารถนำไปสู่โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไตได้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารเป็นหนึ่งวิธีการในการควบคุมความดันโลหิต ความดันโลหิตสูงคือค่าความดันภายในหลอดเลือดแดง ซึ่งเกิดจากการบีบตัวของหัวใจเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยจะวัดได้ 2 ค่า สำหรับภาวะความดันโลหิตสูงนั้น ค่าที่วัดได้จะมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาได้
- ค่าความดันโลหิตตัวบน: เป็นค่าความดันเลือดในขณะที่หัวใจบีบตัว
- ค่าความดันโลหิตตัวล่าง: เป็นค่าความดันเลือดในขณะที่หัวใจคลายตัว
ความดันสูงควรกินอะไร
ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงควรให้ความสำคัญกับการเลือกรับประทานอาหาร เนื่องจากการรับประทานอาหารที่เหมาะสมจะช่วยควบคุมระดับความดันโลหิตได้ มีหลักง่าย ๆ ในการเลือกรับประทานอาหาร คือ ลดการบริโภคเกลือโซเดียม อาหารที่มีรสจัด หลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง อาหารกระป๋อง รวมถึงอาหารแปรรูปสำเร็จรูปที่มักมีเกลือในปริมาณสูง ในขณะเดียวกันควรเพิ่มการรับประทานอาหารที่เป็นแหล่งใยอาหารที่ดี เช่น ผัก ผลไม้สด ธัญพืชไม่ขัดสี และถั่วเมล็ดแห้ง และเลือกรับประทานโปรตีนจากแหล่งธรรมชาติ เช่น ปลา เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ และถั่วเมล็ดแห้ง จำกัดการบริโภคไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ที่มักพบในอาหารทอดและขนมอบกรอบ การดื่มน้ำสะอาดวันละอย่างน้อย 8 แก้ว และหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง ก็จะช่วยในการควบคุมความดันโลหิตได้เช่นกัน อาหารที่ช่วยลดความดันโลหิตมีให้เลือกรับประทานหลากหลาย โดยคุณสามารถปรับเปลี่ยนการรับประทานให้เหมาะกับความชอบของตัวเองได้
10 อาหารที่เหมาะกับผู้ป่วยโรค ความดันโลหิตสูง
1.ข้าวแป้งที่ไม่ขัดสี : รับประทาน ข้าวแป้งที่ไม่ขัดสี ประมาณ 7-8 ทัพพี เพื่อเพิ่มใยอาหารในการขับถ่าย และโรคเรื้อรัง
2.เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ : รับประทานเนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำ เช่น เนื้อแดงที่ไม่ติดมันหรือไม่ติดหนังเพื่อลดการบริโภคไขมัน และเพิ่มการรับประทานเนื้อปลาเพื่อให้ได้รับโอเมก้า 3 เพื่อช่วยในการลดระดับไตรกลีเซอไรด์ ป้องกันการอักเสบ และมีส่วนช่วยในการบำรุงหลอดเลือด
3. ผัก ผลไม้ สด: เพิ่มการรับประทานผักและผลไม้สด 4-5 ทัพพี โดยเน้นการรับประทานผักผลไม้สด ที่ไม่ผ่านการปรุงแต่งเป็นหลัก เพื่อเพิ่มใยอาหารและแร่ธาตุต่าง ๆ หลีกเลี่ยงผลไม้กระป๋องและแปรรูป
4. ไขมันดี: รับประทานน้ำมันหรือไขมันในปริมาณ ไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน โดยเน้นรับประทานอาหารที่เป็นไขมันดี เพื่อให้ร่างกายได้รับปริมาณไขมันที่เพียงพอ และช่วยในการดูดซึมวิตามินชนิดละลายน้ำ
5. ถั่วและธัญพืช: เน้นรับประทานธัญพืชและถั่วเปลือกแข็งชนิดต่าง ๆ เช่น อัลมอนด์ ถั่วลิสง เป็นต้น เพื่อให้ได้ไขมันที่ดี แต่ไม่ควรรับประทานมากเกินไปเนื่องจากถั่วเป็นอาหารที่ให้พลังงานสูง เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรรับประทานเกินวันละ 30 กรัม หรือวันละ 2 ช้อนโต๊ะ
6. กระเจี๊ยบแดง:จากผลวิจัยพบว่ากระเจี๊ยบแดงสามารถช่วยลด โรคความดันโลหิต ได้ เนื่องจากมีสารแอนโทไซยานินที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับหลอดเลือด
7. ขึ้นฉ่าย: มีการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่าขึ้นฉ่ายมีฤทธิ์ลดความดันโลหิต ขับปัสสาวะ ลดบวม ควบคุมน้ำตาล ลดไขมันและต้านการอักเสบได้
8. กระเทียม: กระเทียมเป็นพืชผักสวนครัวที่ต้องมีติดครัวกันทุกบ้าน นอกจากรสเผ็ดร้อนที่ช่วยเสริมรสชาติอาหารแล้ว ในกระเทียมยังมีสารเคมีที่สำคัญก็คือ Allicin ที่ช่วยลดความดันโลหิตและไขมันในเลือดได้ด้วย
9. ตะไคร้: เป็นสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่หลายคนนิยมนำมาทำอาหาร เนื่องด้วยสรรพคุณที่หลากหลายทั้งช่วยในเรื่องการขับปัสสาวะ ขับลมและช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายแล้ว ยังมีส่วนช่วยในเรื่องของการลดความดันโลหิตสูงได้ดีทีเดียว
10. ฟ้าทะลายโจร: สมุนไพรยอดฮิตที่มากด้วยสรรพคุณทางยา ซึ่งจากงานวิจัยพบว่าสารในฟ้าทะลายโจรนั้นฤทธิ์ในการลดความดันโลหิต ช่วยในการขยายตัวของหลอดเลือด และลดอัตราการเต้นของหัวใจไม่ให้เร็วจนเกินไปด้วย
ที่มาอ้างอิง praram9 rama.mahidol