ไลฟ์สไตล์

สถาบันมะเร็ง ชี้โรคร้ายที่พรากชีวิต อ๋อม อรรคพันธ์ เป็นเคสหายาก ขั้นรุนแรง

สถาบันมะเร็ง ชี้โรคร้ายที่พรากชีวิต อ๋อม อรรคพันธ์ เป็นเคสหายาก ขั้นรุนแรง

23 ก.ย. 2567

ผอ.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เผยคนไทยป่วย "มะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ" 5-7 คน ต่อปี ส่วนการเกิดโรคยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย เจอเมื่ออาการรุนแรง รักษายาก เหตุหัวใจไม่แบ่งตัวตอบสนองเคมีรักษาน้อย ต้องใช้การประคับประคอง

 

จากกรณีที่พระเอกคนดัง อ๋อม อรรคพันธ์ เสียชีวิตอย่างสงบด้วยวัย 39 ปี จากอาการป่วย มะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้ประชาชนสนใจและอยากรู้รายละเอียดโรคดังกล่าวเพิ่ม ซึ่งทา ร.อ.นพ.สมชาย ธนะสิทธิชัย ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวถึงสถานการณ์โรคมะเร็งในประเทศไทย ว่า ข้อมูลในประเทศไทยจะพบผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกชนิดประมาณ 1.4  แสนคนต่อปี โดยโรคมะเร็งที่พบบ่อยสถิติก็ยังไม่เคยเปลี่ยน จะอยู่ในกลุ่มมะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่

 

สถาบันมะเร็ง ชี้โรคร้ายที่พรากชีวิต อ๋อม อรรคพันธ์ เป็นเคสหายาก ขั้นรุนแรง

 

มะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ ไม่ทราบสาเหตุชัดเจน

ส่วนโรคมะเร็งหัวใจ หรือมะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ ตามที่มีรายงานว่า ดาราชายไทยเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ (นายอรรคพันธ์ นะมาตร์ หรือ อ๋อม นักแสดงชายไทย) นั้นพบได้น้อยมาก ไม่ว่าจะเป็นสถิติทั้งโลก หรือของประเทศไทยก็จะพบได้น้อย รวมถึงประเทศไทย เพราะโดยธรรมชาติของโรคมะเร็งจะเกิดจากการแบ่งตัวผิดปกติของเซลล์ หรืออวัยวะและเกิดการกลายพันธ์ ซึ่งร่างกายจะมีกระบวนจะตรวจจับการแบ่งตัวผิดปกติของอวัยวะ หรือเซลล์นั้นอยู่ แต่หากเมื่อไหร่ที่กระบวนการตรวจจับแย่ลง หรือการซ่อมแซมเสียไปก็มีโอกาสเกิดมะเร็งได้ ในขณะที่หัวใจของคนเรานั้น เซลล์หัวใจเป็นเซลล์ที่เติบโตแล้ว ไม่ค่อยมีการแบ่งตัว แปลว่า โอกาสที่จะมีการแบ่งตัวผิดปกติมีน้อย ดังนั้นจึงไม่ค่อยเกิดโรคมะเร็งชนิดนี้

 

ร.อ.นพ.สมชาย ธนะสิทธิชัย ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ

 

ร.อ.นพ.สมชาย กล่าวต่อว่า  การเกิดโรคมะเร็งหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจนั้น ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่มีการค้นพบพันธุกรรมบางอย่างที่สัมพันธ์กันกับการเกิดโรคนี้ แปลว่า มีความผิดปกติตั้งแต่เกิด ถึงเกิดโรคนี้ขึ้นมา แต่ก็ต้องบอกว่าไม่ใช่ทุกคน ส่วนความเสี่ยงอื่นๆ ก็เป็นความเสี่ยงทั่วไปที่ไม่ได้มีการพิสูจน์ชัดเจน ข้อมูลมีน้อยมากในกรณีแบบนี้ ทั้งนี้ ในประเทศไทยประมาณการณ์ผู้ป่วย 5-7 คนต่อปี ช่วงอายุที่พบบ่อยๆ คือ อายุ 30 – 50 ปี ส่วนอายุเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 44 ปี และส่วนใหญ่จะพบในผู้ชาย อัตราการเกิดโรคอยู่ที่ 0.1 ต่อประชากร 1 ล้านคน 

 

สถาบันมะเร็ง ชี้โรคร้ายที่พรากชีวิต อ๋อม อรรคพันธ์ เป็นเคสหายาก ขั้นรุนแรง

 

การรักษา มะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ

ส่วนการรักษาโรคมะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจนั้น คล้ายกับการรักษาโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ แต่ความแตกต่างกัน คือ เนื่องจากหัวใจเป็นอวัยวะสำคัญ ดังนั้นการจะผ่าตัดออกมาก็ยาก เนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจเป็นเซลล์ที่เติบโตแล้ว ไม่ค่อยแบ่งตัวแล้ว ฉะนั้นจึงไม่ค่อยไวต่อยาเคมีบำบัด หรือการฉายแสง เพราะยาเคมีบำบัดจะไวต่อเมื่อเซลล์มีการแบ่งตัวเร็ว ดังนั้นการรักษาจึงยากกว่า

“มะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจนั้น ในระยะๆ แรกๆ จะไม่ค่อยมีอาการ จะมีอาการเมื่อโรครุนแรงแล้ว พอรุนแรงเยอะการผ่าตัดก็ไม่ได้ ส่วนใหญ่การรักษาจะเป็นการรักษาแบบประคับประคองมากกว่า   ส่วนคนที่สามารถให้ยาเคมีบำบัดได้ผลดีก็อาจจะอยู่ได้นานขึ้น และหากใครสามารถผ่าตัดได้ก็จะอยู่ได้นานขึ้นอีกหน่อย” ร.อ.นพ.สมชาย กล่าว

 

สถาบันมะเร็ง ชี้โรคร้ายที่พรากชีวิต อ๋อม อรรคพันธ์ เป็นเคสหายาก ขั้นรุนแรง