กรมควบคุมโรค เตือนโรคระบาดต่างประเทศ ที่ไทยยังต้องเฝ้าระวัง!
กรมควบคุมโรค เตือนโรคระบาดต่างประเทศ ที่ไทยยังต้องเฝ้าระวัง ทั้ง “ไวรัสมาร์บวร์ก - ไข้หวัดนก H5N1- โปลิโอ” โดยเฉพาะโรคมาร์บวร์ก ยังพบกระจุกตัวในแอฟริกา โอกาสแพร่โซนเอเชียอยู่ในระดับต่ำ
นอกจากโรคโควิด19 ที่ระบาดหนักทั่วโลกราว 3 ปีที่ผ่านมา ยังมีโรคอื่นๆที่ประเทศไทย จำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ แต่หากเข้ามาระบาดภายในประเทศ ย่อมก่อผลกระทบไม่มากก็น้อย
ไข้หวัดนก H5N1 ยังไม่พบในไทยเป็นเวลา 18 ปี
โรคไข้หวัดนกในคนและสัตว์ ทั่วโลก ยังพบรายงานเป็นระยะ โดยเฉพาะสายพันธุ์ H5N1 ซึ่งติดต่อจากสัตว์สู่คน แต่ยังไม่พบว่าสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลวันที่ 27 ก.ย.2567 ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ สหรัฐ หรือ CDC รายงานพบป่วยโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ทั้งสิ้น 14 ราย และยังพบเป็นบุคลากรทางการแพทย์ 6 ราย หลังให้การดูแลผู้ป่วย ซึ่ง 1 ใน 6 รายตรวจไม่พบสารพันธุกรรมของไข้หวัดนก ส่วนใหญ่หายเป็นปกติ ขณะเดียวกัน องค์การอนามัยโลกยังพบผู้ป่วยในกัมพูชา สะสม 10 ราย
ปัจจุบันยังไม่มีรายงานผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ในประเทศไทย เป็นเวลา 18 ปีแล้ว หลังจากพบป่วยรายสุดท้ายเมื่อปี 2549 ทั้งนี้ ประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวัง รวมทั้งการประเมินความเสี่ยงต่างๆ สิ่งสำคัญขอให้ระมัดระวังตัว และรับประทานอาหารที่ปรุงสุก และขอให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือรับประทานสัตว์ปีกหรือโคที่ป่วย หรือตายผิดปกติ และหากเกษตรกร มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ควรไปพบแพทย์และแจ้งประวัติเสี่ยง
โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก ยังพบกระจุกตัวในแอฟริกา
โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก (Marburg Virus ) เป็นไวรัสที่คล้ายไข้เลือดออก แต่พบระบาดในแอฟริกา โดยเมื่อวันที่ 27 ก.ย.2567 พบที่สาธารณรัฐรวันดาครั้งแรก มีรายงานป่วย 38 ราย มีอัตราป่วยตายถึงร้อยละ 28.9 ถือว่าสูง ที่สำคัญผู้ที่ป่วยและเสียชีวิตเป็นบุคลากรทางการแพทย์ด้วย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ องค์การอนามัยโลกประเมินความเสี่ยงของโรคนี้ค่อนข้างสูง โดยระบาดแอฟริกาต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2566 แต่ในปี 2567 เจอในพื้นที่ที่ไม่เคยมีรายงานมาก่อน
สำหรับไวรัสนี้ ติดต่อได้จากสารคัดหลั่ง และสิ่งของที่มีปนเปื้อนทุกอย่าง มีสัตว์รังโรค คือ ค้างคาว พบได้ในเหมืองและถ้ำใน แอฟริกา ระยะฟักตัวตั้งแต่ 2-21 วัน ดังนั้น หากเดินทางไปประเทศที่มีรายงาน และต่อมามีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ เจ็บคอ คลื่นไส้อาเจียน และมีผื่นนูน ผู้ป่วยอาการนุรแงอาจพบภาวะเลือดออกตามผิวหนัง และอวัยวะต่างๆ เช่น เลือดออกในทางเดินอาหาร ส่งผลให้เกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตในช่วง 8-9 วันหลังเริ่มมีอาการ
โอกาสแพร่มาโซนเอเชียอยู่ในระดับต่ำ
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน และไม่มียารักษาจำเพาะต่อโรค จึงเป็นโรคที่ต้องระวังมาก และองค์การอนามัยโลกออกมาเตือน อย่างความเสี่ยงการระบาดระหว่างภูมิภาคอยู่ในระดับสูง ส่วนระดับโลก หรือจะแพร่มาโซนเอเชียนั้น ยังอยู่ระดับต่ำ เพราะคนป่วยจะอาการหนัก ไม่ค่อยเดินทางนัก แต่เราไม่ประมาทต้องระวัง เพราะเชื้อก็ปรับตัวเรื่อยๆ และไทยปัจจุบันไม่มีเที่ยวบินโดยตรง
ไวรัสมาร์บวร์ก โรคติดต่ออันตรายในไทย
ไวรัสตัวนี้ ไทยจัดเป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 จึงมีมาตรการรองรับที่เข้มงวด แม้เราจะยังไม่ห้ามการเดินทาง แต่จะมีมาตรการคัดกรอง และหากผู้เดินทางกลับมาจากพื้นที่เสี่ยง จะมีคำแนะนำในการเฝ้าระวัง หากต้องเดินทางไปประเทศเสี่ยงจริงๆ ขอให้หลีกเลี่ยงสัมผัสค้างคาวหรือเข้าไปในถ้ำ ในเหมือง หลีกเลี่ยงสัมผัสสารคัดหลั่งจากค้างคาว ซึ่งอาจพบได้ในผลไม้ ดังนั้น หากจะรับประทานขอให้ล้างให้สะอาด และไม่ควรสัมผัสสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น ชิมแปนซี กอริลลา
โปลิโอ ไทยไม่พบระบาด
นอกจากนี้ โรคโปลิโอ ไทยไม่พบการระบาด แต่ปัจจุบันยังคงพบการระบาดใน 2 ประเทศ คือ ปากีสถาน และอัฟกานิสถาน แต่ที่ต้องระวังคือ ล่าสุดเดือนส.ค.2567 พบผู้ป่วยโปลิโอจากเชื้อไวรัสโปลิโอสายพันธุ์วัคซีนลกายพันธุ์ ในฉนวนกาซา หลังจากปลอดโรคมาเป็นเวลา 25 ปี ผู้ปกครองพาบุตรหลาน เข้ารับวัคซ๊นป้องกันโรคโปลิโอตามกำหนดได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐใกล้บ้านทุกแห่ง