เฝ้าระวังการกลายพันธุ์! ไทยพบเชื้อ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ H1N1 มากสุด
สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ไทยพบ H1N1 มากสุด 41.25% รองลงมา H3N2 32.24% กรมวิทย์ฯ ยืนยันเชื้อดื้อยายังเกิดขึ้นได้ไม่บ่อย พร้อมเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ แนะฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี
นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในเขตซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ ระบาดมากในช่วงฤดูหนาวและฤดูฝนตามลำดับ สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2566–ปัจจุบัน ทั่วโลกพบไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H3N2) ไข้หวัดใหญ่ ชนิด A(H1N1) pdm09 และไข้หวัดใหญ่ชนิด B (Victoria Lineage) เป็นสาเหตุของการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ผลการวิเคราะห์สารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ และตรวจจำแนกสายพันธุ์โดยการวิเคราะห์ลำดับพันธุกรรมในปัจจุบันจากทั่วโลก
- ไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H1N1) pmd09 พบสัดส่วน 33.87% ซึ่งเป็นสายพันธุ์ A(H1N1) pdm09 clade 6B.1A.5a.2a.1 สัดส่วน 14.29% และ clade 6B.1A.5a.2a สัดส่วน 85.71%
- ไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H3N2) พบสัดส่วน 53.23% ซึ่งเป็นสายพันธุ์ A(H3N2) clade 3C.2a1b.2a.2a.3a.1 สัดส่วน 95.45% และ clade 3C.2a1b.2a.2a.3 สัดส่วน 1.52%
- ไข้หวัดใหญ่ชนิด B กลุ่ม Victoria สัดส่วน 12.9% โดย 100% เป็นสายพันธุ์ B/Victoria clade VIA.3a.2
สำหรับในประเทศไทย สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในปัจจุบัน พบว่าไข้หวัดใหญ่ A(H1N1) pdm09 มากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 41.25% รองลงมาคือไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H3N2) 32.24% และ ชนิด B(Victoria) มีสัดส่วน 26.51% ตามลำดับ และจากการวิเคราะห์สายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย (1 ตุลาคม 2566 - กันยายน 2567) ด้วยการประยุกต์ใช้เทคนิคการวิเคราะห์ลำดับพันธุกรรมทั้งจีโนม และประเมินความสอดคล้องกับสายพันธุ์วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่องค์การอนามัยโลกประกาศสำหรับซีกโลกใต้ ปี 2024
วัคซีนที่ใช้ในประเทศไทยยังสามารถป้องกันสายพันธุ์ของเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่พบในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ขอให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี ควบคู่กับการดูแลป้องกันตนเอง ด้วยการล้างมือบ่อย ๆ ไม่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด และหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด และอากาศถ่ายเทไม่สะดวกเป็นเวลานาน หากสงสัยว่ามีอาการป่วย แนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง