ไลฟ์สไตล์

AI วินิจฉัยวัณโรค พบโรคเร็วขึ้น คิดค้นโดยญี่ปุ่น เตรียมเปิดบริการในไทย

AI วินิจฉัยวัณโรค พบโรคเร็วขึ้น คิดค้นโดยญี่ปุ่น เตรียมเปิดบริการในไทย

26 ต.ค. 2567

AI วินิจฉัยวัณโรค ตรวจพบอาการโรคเร็วขึ้น เตรียมเปิดบริการในไทย เทคโนโลยีใหม่คิดค้นโดยสตาร์ทอัพของญี่ปุ่น

ในยุคที่ “สุขภาพ” เป็นสิ่งสำคัญอันดับต้น ๆ ของชีวิต ปัญหาเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพยังคงเป็นอุปสรรคใหญ่สำหรับคนไทยหลายคน หลายพื้นที่ขาดแคลนหมอและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย อย่างไรก็ตาม “เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์” (AI) กำลังเข้ามาแก้ปัญหานี้

 

“Lpixel” สตาร์ทอัพจากมหาวิทยาลัยโตเกียวของญี่ปุ่นนำเสนอบริการ “วินิจฉัยโรคด้วย AI” เข้ามาช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทยและบราซิล ที่กำลังขาดแคลนแพทย์ โดยหวังจะนำความรู้และเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นนี้มาต่อยอด และสร้างโอกาสทางธุรกิจในตลาดใหม่

 

สตาร์ทอัพญี่ปุ่นรายนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 2014 โดยมีระบบ AI ต่าง ๆ ในการช่วยวินิจฉัยโรค ได้แก่ ระบบช่วยตรวจหาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่โดยใช้ภาพกล้องเอนโดสโคป ระบบค้นหาสัญญาณของโรคจากการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) และการตรวจด้วยคลื่นสนามแม่เหล็กเข้มข้นสูง (MRI)

สำหรับปัญญาประดิษฐ์ของ Lpixel ที่จะเปิดบริการในไทยนี้ เป็น “AI วินิจฉัยวัณโรค” โดยการวิเคราะห์จากภาพเอ็กซ์เรย์ปอด เพื่อระบุสัญญาณของโรคและแจ้งเตือนแพทย์ 

 

เว็บไซต์นิกเกอิ เอเชียรายงาน ว่า หลังจากทดลองกับมหาวิทยาลัยมหิดลและที่อื่น ๆ ซึ่งเริ่มต้นในเดือนพฤศจิกายน เทคโนโลยีนี้จะถูกนำไปใช้ในสถาบันการแพทย์ บริษัทตั้งเป้าที่จะส่งมอบระบบนี้ให้กับ 100 สถานพยาบาลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และที่อื่น ๆ ภายใน 3 ปี โดยเน้นที่ประเทศไทย

การคัดกรองปอดด้วย AI (เครดิต: lpixel)

AI ช่วยอ่าน X-ray พบวัณโรคเร็วขึ้น

 

องค์การอนามัยโลกระบุว่า จำนวนผู้ป่วยวัณโรคทั่วโลกมีประมาณ 10.6 ล้านคน ในปี 2022 เพิ่มขึ้นจาก 10.3 ล้านคนในปี 2021 โดย “ภูมิภาคอาเซียน” มีผู้ป่วยมากที่สุด คิดเป็น 46% ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด

 

“วัณโรค” ถือเป็นโรคติดต่อที่ต้องได้รับการดูแลอย่างทันท่วงที การตรวจพบและรักษาอย่างรวดเร็วจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม ไทยยังเผชิญกับ “ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์” เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น โดยไทยมีแพทย์ 9 คนต่อประชากร 10,000 คน เมื่อเทียบกับญี่ปุ่นที่มี 26 คน ทำให้ผู้ป่วยวัณโรคบางรายอาจไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและทันท่วงที แม้จะมีการตรวจด้วยภาพเอ็กซ์เรย์แล้วก็ตาม ดังนั้น การมี AI เข้ามาจะช่วยแบ่งเบาภาระแพทย์และช่วยผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้เร็วขึ้น

 

ทั้งนี้ บริษัท Lpixel พัฒนาเทคโนโลยี AI ของตนขึ้นโดยอิงจากข้อมูลภาพเอ็กซ์เรย์ของคนญี่ปุ่นเป็นหลัก ขณะที่ข้อมูลจากผู้ป่วยวัณโรคในไทยคิดเป็นประมาณ 5% บริษัทยังพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ที่อาจส่งผลต่อคุณภาพของข้อมูล เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่น่าเชื่อถือ

 

“บริษัทมองเห็นว่า ประเทศเกิดใหม่ต้องการระบบวินิจฉัยโรคด้วย AI อย่างยิ่ง เนื่องจากขาดแคลนแพทย์ บริษัทจึงเตรียมเข้าสู่ตลาดดังกล่าวมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว เราต้องการให้ครึ่งหนึ่งของยอดขายเรามาจากต่างประเทศภายใน 10 ปี” โทมิ คามาดะ (Tomy Kamada) ผู้อำนวยการของบริษัท Lpixel กล่าว

 

AI ญี่ปุ่นบุกตลาดอาเซียน วินิจฉัยมะเร็งกระเพาะอาหาร

 

ไม่ใช้เฉพาะบริษัท Lpixel แม้แต่บริษัท “AI Medical Service” จากญี่ปุ่นก็เตรียมบุกตลาดอาเซียนด้วยเช่นกัน โดยพัฒนาระบบ AI ในการวิเคราะห์ภาพจากการส่องกล้อง เพื่อวินิจฉัยโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร ซึ่งปัจจุบันได้นำไปใช้ในโรงพยาบาลทั่วญี่ปุ่นแล้ว และกำลังขยายตลาดไปยังบราซิลและประเทศในกลุ่มอาเซียน

 

บริษัท AI Medical Service ได้รับการอนุมัติในสิงคโปร์ในเดือนกุมภาพันธ์ และมีเป้าหมายที่จะจำหน่ายระบบของตน ในไทยและเวียดนามในอนาคต

 

“ในประเทศเกิดใหม่ ที่มีโครงสร้างพื้นฐานทางการแพทย์ที่ยังไม่พัฒนาเต็มที่ อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ติดตั้ง AI อาจสามารถเข้าสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว” เคนจิ โยชิดะ (Kenji Yoshida) หัวหน้าฝ่ายธุรกิจระดับโลกของบริษัทฯกล่าว โดยอินโดนีเซียมีแพทย์เพียง 7 คนต่อประชากร 10,000 คน และเวียดนามมี 8 คน

 

โอกาสทองของตลาด AI ทางการแพทย์

 

ทั้งนี้ “ญี่ปุ่น” เป็นผู้นำระดับโลกด้านการวิจัยและรักษาโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร รวมถึงโดดเด่นด้านเทคโนโลยีการตรวจด้วยกล้องส่องภายใน (เอนโดสโคป) แม้ว่าปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่า ทำไมชาวญี่ปุ่นจึงมีอัตราผู้ป่วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหารสูง แต่ข้อมูลทางการแพทย์จำนวนมหาศาลที่สะสมมานี้เอง กลายเป็นทรัพยากรอันล้ำค่าในการพัฒนาระบบ AI เพื่อวิเคราะห์และวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น

 

ไม่เพียงเท่านั้น ญี่ปุ่นยังมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจด้วยเอนโดสโคปจำนวนมาก สมาคมเอนโดสโคปทางเดินอาหารแห่งญี่ปุ่นมีสมาชิกประมาณ 35,000 คน เมื่อเทียบกับสมาคมกลุ่มอุตสาหกรรมที่เทียบเท่ากันในสหรัฐที่มีสมาชิกประมาณ 12,000 คน เมื่อพิจารณาตามจำนวนประชากร ญี่ปุ่นมีผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่สามารถใช้เอนโดสโคปได้ประมาณ 5 เท่าของสหรัฐ

 

สำหรับตลาดภาพถ่ายทางการแพทย์ มีแนวโน้มเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 70,200 ล้านดอลลาร์ หรือราว 2.3 ล้านล้านบาทในปี 2032 ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 74% เมื่อเทียบกับปี 2023 ตามข้อมูลจากบริษัทวิจัยตลาด Fortune Business Insights โดยปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตนี้มาจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในอุปกรณ์ทางการแพทย์รุ่นใหม่ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก และการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ทันสมัยมากขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา



อ้างอิง: nikkeilpixel

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ