คนไทยป่วยโรคไตกว่า 17% เริ่มจากเบาหวาน-ความดัน เป็นเพราะพฤติกรรมบริโภค
คนไทยป่วยโรคไตเรื้อรังกว่า 17% แนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เบาหวาน ความดัน เป็นเพราะพฤติกรรมการบริโภค กินหวาน มัน เค็ม หรือสมุนไพรบางชนิด ย้ำ! ข้อสังเกตปัสสาวะกลางคืนแบบใดเข้าข่ายป่วยโรคไต แนวทางรักษา และป้องกันก่อนเกิดโรค
ผศ.นพ.คณิน ธรรมาวรานุคุปต์ อายุรแพทย์โรคไต สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ให้ความรู้เรื่อง โรคไตเรื้อรัง ภายในรายงาน FM 91 ก้าวทันโรคกับแพทยสภา โดยดีเจ ลัดดาวัลย์ คัชชาพงษ์ ว่า โรคไต ถือเป็นปัญหาสาธารณสุขทั้งประเทศไทยและทั่วโลก ความชุกของผู้ป่วยไตในไทยมีกว่า 17% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุส่วนใหญ่เบาหวานและความดัน รองลงมาคือ นิ่วในไต ภาวะไตอักเสบ รวมถึงกรรมพันธุ์ไต อย่างนิ่วในไต มีหลายสาเหตุ เช่น อาหารการกิน กินสมุนไพรบางชนิด หรือเกิดจากกรรมพันธุ์ก็ได้ ทั้งนี้ โรคไตมี 2 แบบ คือ แบบไตเสื่อมเฉียบพลัน และแบบไตเสื่อมเรื้อรัง โดยไตเสื่อมแบบใดจะพิจารณาจากค่าการทำงานของไตเสื่อมลงกว่าปกติ โดยตัดเวลา 3 เดือน หากไตเสื่อมลงกว่าปกติน้อยกว่า 3 เดือนจะเป็นแบบเฉียบพลัน แต่หากมากกว่า 3 เดือนจะเป็นไตเรื้อรัง
5 ระยะโรคไตเรื้อรัง
“ไตเรื้อรัง” คือ การทำงานไตเสื่อมลงน้อยกว่า 60% ยาวนานเกิน 3 เดือน แบ่งเป็น 5 ระยะ คือ ระยะที่1 ค่าการทำงานของไตอยู่ที่มากกว่า 90% ซึ่งจริงๆต้องพิจารณาจากหน้าตาไต เช่น ไตมีถุงน้ำเยอะ แม้อัตราการกรองของไตมากกว่า 90% ก็ถือว่าเป็นโรคไตระยะที่ 1 ได้ ส่วนระยะที่ 2 ค่าการทำงานของไตอยู่ที่ 60-90% ระยะที่ 3 ค่าการทำงานของไต 30-60% ระยะที่ 4 ค่าการทำงานของไต15-30% และระยะที่ 5 (ระยะสุดท้าย) ค่าการทำงานของไตต่ำกว่า 15%
“ไตเสื่อม” ไม่สามารถฟื้นคืนได้
“หากค่าการทำงานของไตเสื่อมลงแล้ว จะไม่สามารถฟื้นให้กลับมาดีขึ้น แต่สามารถชะลอไม่ให้เสื่อมเร็วลงไปอีกได้ เช่น ผู้ป่วยค่าการทำงานไตอยู่ที่ 65% หากไม่ทำอะไรผ่านระยะเวลาหนึ่งอาจลดลงมาเร็วเหลือ 50% แต่หากรู้เร็วปฏิบัติตัวถูกต้อง อาจลดลงเหลือ 62% ได้”
อาการผู้ป่วยไตเรื้อรัง ปัสสาวะผิดปกติ อ่อนเพลีย
สำหรับอาการของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง อายุรแพทย์โรคไต ให้ความรู้ว่า “ผู้ป่วยโรคไต จะไม่มีอาการอะไรเลย จนไปถึงรุนแรง ช่วงที่ไม่มีอาการ แต่เมื่อตรวจปัสสาวะอาจเห็นเม็ดเลือดแดง หรือโปรตีนรั่วออกมาเจือปนได้ หรือปัสสาวะมีฟองมากขึ้น หรือปัสสาวะกลางคืน 2 ครั้งขึ้นไป เช่น นอนหลับไปแล้วต้องตื่นมาก็ให้ระวัง หรือปัสสาวะน้อยลง บางคนกินไม่ค่อยได้ อ่อนเพลีย ตัวบวม ขาบวม เหนื่อยง่ายขึ้น อาการจะค่อยๆมากขึ้นจนสุดท้ายเป็นโรคไตระยะสุดท้ายได้ ซึ่งอาการเหล่านี้จะค่อยๆมาทีละอย่าง ตั้งแต่น้อยจนถึงมาก บางคนหากค่าทำงานไตเสื่อมลงเหลือ 20% แต่ไม่มีอาการก็ยังได้
ผศ.นพ.คณิน ย้ำถึงการปัสสาวะกลางคืนมากกว่า 2 ครั้ง ให้สังเกตด้วยว่า เมื่อตื่นมาแล้วไม่ต้องดื่มน้ำซ้ำ แต่ยังปัสสาวะกลางคืนก็ถือว่าเสี่ยงได้ เนื่องจากร่างกายเราภายใน 4 ชั่วโมงจะขับปัสสาวะจากน้ำที่ดื่มเกือบออกเกิน 80% หากตื่นมาดื่มก็จะต้องถ่ายออก แต่หลักการคือ ตื่นมาแล้วต้องไม่ดื่มน้ำ ให้สังเกตตรงนี้ได้ นอกจากนี้ การปัสสาวะเป็นฟอง หรือกลิ่นผิดปกติ ขอให้มาตรวจก่อน ส่วนภาวะบวม อาจไม่ใช่แค่โรคไต ยังมีโรคหัวใจ โรคตับ ดังนั้น ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยดีที่สุด เพราะโรคไตเป็นโรคเงียบ บางคนไม่แสดงอาการ บางคนแสดงอาการ
ลด “หวาน มัน ไขมัน” ชะลอไตเสื่อม
นอกจากนี้ ขอย้ำว่า อาหารเค็มน้อยจะเป็นประโยชน์ต่อไตมาก และต้องไม่หวานเกินไป และรับประทานอาหารไขมันต่ำ จะเป็นผลดีต่อไต สิ่งสำคัญคือ เน้นการปรับพฤติกรรมการบริโค งดเค็ม ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพออย่างน้อย 2 ลิตร และตรวจค่าไตอย่างต่อเนื่อง
“นอกจากอาหาร ยังมีเรื่องการควบคุมโรคร่วม เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมัน หากคุมได้ดี ไตก็จะดีขึ้นตามได้” อายุรแพทย์โรคไตฯ กล่าว และว่า ขอเตือนเรื่องการรับประทานวิตามิน หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สมุนไพรต่างๆ หากจะรับประทานขอให้นำไปให้แพทย์ประเมินก่อนว่า ทานได้หรือไม่ เพราะพวกนี้อาจมีผลต่อยาที่เรากินอยู่ด้วยเช่นกัน” ผศ.นพ.คณิน กล่าวทิ้งท้าย