มีไข้ อาการแบบนี้ เช็คเลยสรุปป่วยเป็นอะไรกันแน่?
อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย อาจจะทำให้ไม่สบายกันได้ หากมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย อาจจะมีอาการในระบบทางเดินอาหารร่วมด้วย สรุปว่าป่วยเป็น ไข้หวัดใหญ่, ไข้เลือดออก หรือโควิด-19 แยกให้ออกรักษาให้ถูกโรค
ฝนตกบ่อย เชื้อไวรัสและแบคทีเรียต่างๆ แพร่กระจายอยู่ในอากาศ ทำให้มีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น โรคไข้เลือดออก รวมไปถึงกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ โรคไข้หวัดใหญ่ โรคโควิด-19 และโรคติดเชื้อจากไวรัสอื่นๆ เช่น โรค RSV โรคมือเท้าปาก เป็นต้น โดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้เลือดออก และโรคโควิด-19 ซึ่งเป็น 3 โรคยอดฮิตที่พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เราจะมีวิธีการสังเกตอาการอย่างไร? ว่ากำลังเสี่ยงป่วยเป็นโรคอะไรอยู่! กลุ่มโรคเหล่านี้มีอาการที่เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
โรคทั้ง 3 มีการที่เหมือนกันอย่างเห็นได้ชัด
ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงอย่างเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดกล้ามเนื้อ ปวดตามร่างกาย อ่อนเพลีย หมดแรง อาจจะมีอาการในระบบทางเดินอาหารร่วมด้วย เช่น ท้องอืด ถ่ายเหลว ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย
โรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ A และโรคโควิด-19 เป็นกลุ่มโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ ซึ่งแยกความแตกต่างกันแทบจะไม่ได้เลย ในเบื้องต้นแนะนำให้ตรวจ ATK เพื่อวินิจฉัยอาการเบื้องต้นด้วยตนเองก่อน ว่ามีผลติดเชื้อไวรัส Covid-19 หรือไม่ ผู้ป่วยจะมีอาการเด่นชัดเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ ไอ ไอมีเสมหะ ไอแห้ง เจ็บคอ เสียงแหบ (บางราย) มีน้ำมูก คัดจมูก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคภูมิแพ้เป็นโรคประจำตัว จะพบว่ามีอาการแน่นจมูก มีน้ำมูก ได้บ่อยกว่าคนทั่วไป
โรคไข้เลือดออก เป็นโรคไม่ติดต่อจากคนสู่คน มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ลักษณะอาการที่เด่นชัดของโรคไข้เลือดออก คือ มีไข้สูงนาน 2-7 วัน ปวดตามร่างกาย ตัวแดง ตาแดง และจะมีผื่นแดงขึ้น คันตามร่างกาย ปลายมือ และปลายเท้า ในช่วงที่ใกล้หาย
มีไข้สูง ระวัง! อาจป่วยเป็น เป็น 3 โรคไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก โควิด-19
โรคไข้หวัดใหญ่ สังเกตได้ว่าคนรอบตัว หรือคนใกล้ชิดป่วยเป็นโรคเดียวกัน มีอาการของระบบทางเดินหายใจคล้ายกัน โดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ A ติดต่อกันได้ง่ายมาก ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อภายในครอบครัว หรือในสถานที่ทำงานเดียวกัน
โรคโควิด-19 มักพบว่า มีการแพร่ระบาดเป็นคลัสเตอร์โควิดเล็กๆ หรือแหล่งที่มาของการติดเชื้ออยู่เป็นระยะ ซึ่งไม่สามารถระบุได้ชัดว่ามีต้นทางมาจากที่ใด เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่จะสัมผัสรับเชื้อจากคนอื่นๆ ในพื้นที่เดียวกัน คลัสเตอร์สามารถเป็นได้ทั้งสถานที่ กิจกรรม หรือกลุ่มคนที่อยู่ร่วมกัน เช่น ปาร์ตี้ คอนเสิร์ต สนามกีฬา เป็นต้น
โรคไข้เลือดออก มักพบว่ามีสมาชิกที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันป่วยเหมือนกันได้ แต่จะไม่ติดต่อจากคนสู่คน สาเหตุเกิดจากยุงที่มีเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Virus) มากัด ทำให้เกิดการติดเชื้อ ดังนั้น ให้สังเกตอาการคนรอบตัวของเราว่า มีประวัติป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ หรือ โควิด-19 หรือเปล่า และหากมีอาการแสดงภายใน 7 วัน หรือมีไข้สูงเฉียบพลันขึ้นมา ให้สงสัยว่าเราอาจป่วยเป็น 3 โรคนี้ได้!