เช็คสัญญาณเตือน "วัยทองในผู้ชาย" วิธีรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์
ผู้ชายเองก็มี “วัยทอง” เหมือนกัน เป็นภาวะฮอร์โมนเพศชายลดลง ทำให้ผู้ชายเผชิญการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจเช่นเดียวกับผู้หญิงสูงวัย
วัยทอง หรือ (Golden age) หมายถึง วัยแห่งความสำเร็จในชีวิตการงาน แต่ในวัยนี้สุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจนั้นจะถูกบั่นทอนจากความเสื่อมของร่างกายตามอายุที่มากขึ้น และความบกพร่องของฮอร์โมนเพศ ซึ่งมีอิทธิพลต่อบทบาทในการทำหน้าที่ของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ทำให้เกิดอารมณ์แปรปรวน ร้อนวูบวาบ และอาการต่างๆ ตามมา หากพูดถึง วัยทองในผู้ชายนั้นก็ไม่ได้ต่างจากผู้หญิงสักเท่าไหร่ เพียงแต่อาการของผู้ชายวัยทองจะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่แสดงออกอย่างชัดเจนเหมือนกับผู้หญิงวัยทอง โดยอาการวัยทองนี้จะเกิดจากการค่อยๆ ลดลงของฮอร์โมนเพศชาย (Testosterone) นั่นเอง
สัญญาณที่บอกว่ากำลังเข้าสู่วัยทอง
เมื่อฮอร์โมนเพศชายลดลง ไขมันในร่างกายจะมีมากและเกิดการสะสมบริเวณรอบเอว หรือเรียกง่ายๆ ว่า “ลงพุง” การลงพุงจึงเป็นสัญญาณแรกของการเข้าสู่วัยทอง รวมไปถึงอาการอื่นๆ เช่น อ่อนเพลีย ร้อนหนาวง่าย เหงื่อออกมาก เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยง่าย ไม่กระฉับกระเฉง เศร้า เหงา เครียดและหงุดหงิดง่าย โกรธง่าย เฉื่อยชา ขี้บ่นมากขึ้น ขี้น้อยใจเพิ่มขึ้น ไม่อยากไปไหน อยากอยู่คนเดียว กระดูกบาง ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง นอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท ตื่นมาไม่สดชื่น ขาดสมาธิในการทำงาน ความจำลดลง สมรรถภาพทางเพศและความต้องการทางเพศลดลง เกิดอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
อาการวัยทองของผู้ชายแบ่งออกได้เป็น
อาการทางด้านร่างกาย จะมีอาการอ่อนเพลีย เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว เหงื่อออกมาก นอนไม่ค่อยหลับ กำลังวังชาลดลง เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามตัวโดยไม่มีสาเหตุ ไม่กระฉับกระเฉง กล้ามเนื้อต่างๆ ลดขนาดลง ไม่มีแรง
อาการทางด้านจิตใจ จะรู้สึกเบื่อหน่าย ไม่มีแรงจูงใจในการทำอะไร เป้าหมายในชีวิตเปลี่ยนไป เศร้า เหงา เครียดและหงุดหงิดง่าย โกรธง่าย เฉื่อยชา ขี้บ่นมากขึ้น ขี้น้อยใจเพิ่มขึ้น ไม่อยากไปไหน อยากอยู่คนเดียว นอนไม่หลับ หรือหลับไม่สนิท ตื่นมาไม่สดชื่น ขาดสมาธิในการทำงาน ความจำลดลง โดยเฉพาะความจำระยะสั้น
สุขภาพทางเพศ สมรรถภาพทางเพศและความต้องการทางเพศลดลง หรือไม่มีอารมณ์เพศ บางคนเกิดอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศด้วย เนื่องจากฮอร์โมนเพศชายเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอารมณ์เพศเมื่อระดับฮอร์โมนเพศชายลดลงจึงไม่เกิดอารมณ์ที่จะมีเพศสัมพันธ์และอวัยวะไม่แข็งตัว
กระดูกและกล้ามเนื้อ ผลของการขาดฮอร์โมนเพศชายจะทำให้กระดูกบางลง เป็นโรคกระดูกพรุนได้ เช่นเดียวกับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน นอกจากนี้กล้ามเนื้อจะค่อยๆ ลดขนาดลง มีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง
วิธีการดูแลสุขภาพของผู้ชายวัยทอง
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อการเสริมสร้างฮอร์โมนเพศชายที่ดี
- ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะฮอร์โมนเพศชายจะถูกเปลี่ยนเป็นฮอร์โมนเพศหญิงมากขึ้น เมื่อสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- ไม่เครียด