เปิดวิธีแก้ท้องผูก ถ่ายยาก ทำง่ายๆแต่ได้ผลลัพธ์ยอดเยี่ยม
28 พ.ย. 2567
ใครที่มีปัญหาท้องผูก ถ่ายยาก ถ่ายไม่ออก ต้องนั่งในห้องน้ำนานๆ วิธีแก้ทำได้ง่ายๆ ลองปรับพฤติกรรมทำตามนี้ รับรองถ่ายคล่อง ได้ผลลัพธ์ยอดเยี่ยม
ท้องผูก คือ อาการที่ลำไส้มีการบีบตัวหรือเคลื่อนตัวช้า ไม่สามารถกำจัด อุจจาระ ออกจากทางเดินอาหารได้ตามปกติ เกิดการตกค้างในลำไส้ใหญ่เป็นเวลานาน เมื่อร่างกายมีการดูดน้ำในอุจจาระกลับ ทำให้อุจจาระมีลักษณะแห้ง แข็ง และมีขนาดใหญ่ ส่งผลให้ขับถ่ายได้ลำบาก
สาเหตุของอาการท้องผูกที่พบได้บ่อย
- การปรับเปลี่ยนกิจวัตรประจำวัน เช่น การเดินทาง อยู่ระหว่างไปท่องเที่ยว เปลี่ยนที่อยู่ชั่วคราว จึงอาจส่งผลต่อลักษณะอาหารที่รับประทาน ทำให้ร่างกายถูกขัดขวางจากการทำงานปกติ ลำไส้ทำงานน้อยลง
- การเปลี่ยนแปลงการรับประทานอาหารหรือพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น รับประทานอาหารที่มีใยอาหารน้อย ดื่มน้ำน้อย นั่งทำงานเป็นเวลานานและขยับตัวน้อย กลั้นอุจจาระ เป็นต้น
- สภาวะของร่างกาย เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล โรคซึมเศร้า หรือผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด
วิธีแก้ท้องผูกด้วยการปรับพฤติกรรม
- การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันอย่างการรับประทานอาหาร การขับถ่าย หรือการออกกำลังกายเป็นหนทางหนึ่งที่อาจช่วยบรรเทาอาการท้องผูกที่ไม่รุนแรงได้
- ดื่มน้ำสะอาดให้มากขึ้นวันละประมาณ 1.5-2 ลิตร เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ
- หมั่นรับประทานอาหารที่มีใยอาหารวันละ 20-35 กรัม โดยเฉพาะผัก ผลไม้ ลูกพรุน ธัญพืช และถั่ว ซึ่งจะช่วยให้อุจจาระนุ่มขึ้นและขับถ่ายออกมาได้ง่าย ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรค่อย ๆ เพิ่มปริมาณอาหารที่มีใยอาหารสูงทีละน้อยในแต่ละมื้อ เพื่อลดอาการท้องอืดและแก๊สในกระเพาะอาหาร
- ออกกำลังกายด้วยความหนักระดับปานกลาง อย่างเดิน ว่ายน้ำ หรือปั่นจักรยาน ประมาณ 30 นาทีต่อวัน อย่างน้อย 5 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อเสริมสร้างการทำงานของกล้ามเนื้อลำไส้
- ควรฝึกการขับถ่ายให้เป็นเวลาจนเป็นกิจวัตร หากรู้สึกปวดอุจจาระก็ไม่ควรกลั้นอุจจาระหรือรีบร้อนขับถ่ายให้เสร็จไว ๆ โดยเวลาที่เหมาะสมในการถ่ายอุจจาระคือตอนเช้าหลังตื่นนอนหรือหลังอาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง
ยาระบาย อีกวิธีแก้ท้องผูกที่ตรงจุด
บางครั้งการปรับพฤติกรรมอาจให้ผลลัพธ์ที่ช้าเกินไป ยาแก้ท้องผูกหรือยาระบายจึงเป็นทางเลือกที่จะช่วยบรรเทาอาการและความรู้สึกไม่สบายตัวได้เร็วยิ่งขึ้นในช่วงเวลาอันสั้น แต่ผู้ป่วยก็ต้องใช้ยาด้วยความระมัดระวังและถูกวิธีโดยควรอ่านฉลากยาหรือขอคำแนะนำจากเภสัชกรก่อนเสมอ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวและสตรีมีครรภ์