ไขข้อสงสัย? นอนตะแคงซ้ายช่วยลดแสบร้อนจากกรดไหลย้อนได้จริงหรือ?
กรดไหลย้อน เป็นโรคที่สร้างความทุกข์ทรมานและความรำคาญ ไขข้อสงสัย? การนอนตะแคงซ้ายสามารถช่วยลดอาการแสบร้อนกลางอกจากกรดไหลย้อนได้จริงหรือ?
โรคกรดไหลย้อน เป็นภาวะที่น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร ส่งผลให้เกิดอาการหรือผลแทรกซ้อนจากกรดไหลย้อน โดยของที่ไหลย้อนส่วนใหญ่จะเป็นกรดในกระเพาะอาหาร ส่วนน้อยอาจเป็นด่างจากลำไส้เล็ก โดยอาจมีหรือไม่มีหลอดอาหารอักเสบก็ได้
สัญญาณโรคกรดไหลย้อนคืออะไร
- อาการที่เป็นสัญญาณเตือนโรคกรดไหลย้อน ได้แก่
- แสบร้อนกลางอก ไล่ขึ้นมาจากยอดอกขึ้นมาถึงคอ
- ปวด จุกเสียด แน่นลิ้นปี่ มีน้ำรสเปรี้ยวหรือขมในคอ
- อาการเจ็บหน้าอก
- อาการนอกหลอดอาหาร เสียงแหบ กระแอมบ่อย ๆ ไอเรื้อรัง เจ็บคอ
ท่านอนตะแคงซ้ายช่วยลดกรดไหลย้อนได้อย่างไร
ผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนในกระเพาะอาหารมากถึง 80% มีอาการกรดไหลย้อนรบกวนในเวลากลางคืน ข้อมูลจากวารสาร The American Journal of Gastroenterology ในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างท่านอนและโรคกรดไหลย้อนในเวลากลางคืน โดยใช้วิธีตรวจวัดท่านอนควบคู่กับการวัดระดับ pH ในหลอดอาหาร และวัดค่าความต้านทานไฟฟ้า (Impedance) เพื่อศึกษาผลกระทบของท่านอนต่ออาการกรดไหลย้อนระบุว่า การนอนในท่านอนตะแคงซ้ายช่วยลดการเกิดกรดไหลย้อนตอนกลางคืนได้ดีที่สุด เมื่อเทียบกับการนอนหงายหรือนอนตะแคงขวา เนื่องจากท่านอนตะแคงซ้ายหลอดอาหารตำแหน่งของหูรูดหลอดอาหารจะอยู่สูงกว่ากระเพาะอาหาร ทำให้กำจัดกรดออกจากหลอดอาหารได้เร็วกว่าท่านอนอื่น ถึงแม้ในแต่ละท่านอนจำนวนครั้งที่เกิดกรดไหลย้อนจะไม่แตกต่างกันมาก แต่การลดเวลานอนในท่านอนหงายหรือท่านอนตะแคงขวาอาจช่วยลดอาการกรดไหลย้อนในเวลากลางคืนและทำให้การนอนหลับดีขึ้น ดังนั้นในผู้ป่วยกรดไหลย้อน หากเลือกนอนตะแคงซ้ายจะช่วยลดกรดไหลย้อนได้ดีกว่าท่านอนท่าอื่น
ผู้ป่วยกรดไหลย้อนควรปรับพฤติกรรมอย่างไร
- ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินเกณฑ์
- ไม่นอนหลังรับประทานอาหารทันทีหรือภายใน 2 – 3 ชั่วโมง
- เลี่ยงอาหารที่กระตุ้นให้กรดไหลย้อน เช่น ของทอด ของมัน อาหารรสจัด น้ำอัดลม ชา กาแฟ เบียร์
- อย่ารับประทานอาหารเร็วเกินไป เคี้ยวให้ละเอียด
- ควรหนุนหัวเตียงให้สูงประมาณ 6 – 8 นิ้วขึ้นไป
- งดสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์