เปิดวิธีดูแลตนเองเบื้องต้นเมื่อป่วย "อาหารเป็นพิษ" อันตรายที่มากับการกิน
20 ธ.ค. 2567
อาหารเป็นพิษอันตรายที่มากับการกินอาหารปนเปื้อนเชื้อโรคโดยเราไม่รู้ตัว เปิดวิธีการดูแลตนเองเมื่ออาหารเป็นพิษให้ดีขึ้น
อาหารเป็นพิษ (Food Poisoning) เป็นโรคที่พบได้บ่อยในทุกกลุ่มอายุตลอดปี เกิดจากการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อโรค เช่น แบคทีเรีย ไวรัส หรือสารพิษในอาหาร ซึ่งอาจเกิดจากกระบวนการผลิต การเก็บรักษา หรือการปรุงอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ อาหารที่มีความเสี่ยงสูงได้แก่ อาหารทะเล เนื้อสัตว์ นม และไข่ที่ไม่ได้ผ่านการปรุงให้สุกอย่างเหมาะสม ซึ่งความรุนแรงขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อโรคและสารพิษที่ได้รับ วิธีแก้อาหารเป็นพิษ จึงต้องพิจารณาให้เหมาะสม
สังเกตอาการ
- มีไข้ ปวดศีรษะ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดท้อง
- ถ่ายอุจจาระบ่อย เกินวันละ 3 ครั้ง
- ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว
- มีอาการสูญเสียน้ำ เช่น เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย กระหายน้ำ
อาการอาหารเป็นพิษแบบไหนต้องไปพบคุณหมอ
หากป่วยอาหารเป็นพิษที่ไม่รุนแรงจะหายได้เองใน 1-2 วัน แต่มีสัญญาณของร่างกายที่บ่งบอกว่า อาการรุนแรงขึ้นและต้องไปปรึกษาแพทย์
- ท้องเสียมาก ท้องเสียหลายวัน หรือมีเลือดปนในอุจจาระ
- อาเจียนบ่อย ๆ มีเลือดปนในอาเจียน
- แขนขาอ่อนแรง
- หายใจลำบาก
- ตาเริ่มมัวมองเห็นได้ไม่ชัดเจน
- อาการปวดท้องอย่างรุนแรงร่วมกับมีไข้สูง
วิธีแก้อาหารเป็นพิษให้ดีขึ้น
หากอาการรุนแรงจนน่ากังวล สามารถดูแลตัวเองให้ดีขึ้นได้ เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้
- ดูแลร่างกายไม่ให้เกิดการขาดน้ำ ดื่มน้ำสะอาดโดยจิบน้ำบ่อย ๆ ให้ร่างกายชดเชยการสูญเสียน้ำจากการอาเจียนและท้องเสีย
- ทดแทนน้ำและแร่ธาตุบางชนิดที่สูญเสียไป ด้วยการจิบน้ำผสมผงเกลือแร่ ซึ่งจะมีเกลือและน้ำตาลกลูโคสเป็นส่วนประกอบหลัก แต่ไม่ใช่น้ำเกลือแร่สำหรับผู้ที่ออกกำลังกาย เพราะน้ำเกลือแร่ชนิดนี้จะไปกระตุ้นให้ร่างกายท้องเสียมากขึ้น
- เลือกรับประทานอาหารอ่อน ๆ เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม งดอาหารเผ็ดและย่อยยาก
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ย่อยยาก ไม่รับประทานอาหารรสเผ็ด
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ