รู้จัก "โรคห่า" คร่าชีวิตคนในอดีต "อหิวาตกโรค" ที่ปัจจุบันยังไม่หายไปไหน
รู้จัก "โรคห่า" คร่าชีวิตคนในอดีต "อหิวาตกโรค" ที่ในปัจจุบันโรคนี้ยังคงไม่หายไปไหน ขณะนี้ระบาดหนัก ในเมืองฉ่วยโก๊กโก่ ประเทศ "เมียนมา"
จากการรายงานของ สาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 2 ในขณะนี้ประเทศไทยคุมเข้ม “อหิวาตกโรค” จ่อเข้ามาระบาดฝั่งไทย หลังเมืองฉ่วยโก๊กโก่ "เมียนมา" มีผู้ป่วยรวมกว่า 300 ราย เสียชีวิต 2 ราย ส่วนประเทศไทย มีผู้ป่วยเข้ารักษา 2 ราย ที่โรงพยาบาลแม่สอด 1 ราย และโรงพยาบาลแม่ระมาด 1 ราย ยังอยู่ระหว่างรอผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ หากกล่าวถึง อหิวาตกโรค หรือที่นิยมเรียกกันในสมัยก่อนว่า โรคห่า เป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนไทยในอดีตเป็นจำนวนมาก จนทำให้เกิดตำนานแร้งวัดสระเกศที่กัดกินศพ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้าและหดหู่มากในอดีต แต่ปัจจุบันที่การแพทย์นั้นมีความเจริญก้าวหน้า ก็ได้มียารักษาจนโรคนี้ค่อยๆ หายไปจากความสนใจของคนในยุคใหม่ แต่แท้จริงแล้ว โรคนี้ยังไม่ได้หายไปไหน
อหิวาตกโรค เป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหารจากแบคทีเรียชนิดเฉียบพลัน เริ่มด้วยอาการถ่ายอุจจาระเป็นน้ำอย่างมากโดยไม่มีอาการปวดท้อง บางรายอุจจาระขาวขุ่นเหมือนน้ำซาวข้าว บางครั้งมีคลื่นไส้ อาเจียน สูญเสียน้ำอย่างรวดเร็วจนเกิดภาวะเป็นกรดในเลือด และการไหลเวียนโลหิตล้มเหลว สำหรับเชื้อโรคอุจจาระร่วงอย่างแรง(อหิวาตกโรค) ชนิด El Tor biotype ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการเลยก็ได้ ในรายรุนแรงน้อยอาจพบแต่อาการถ่ายเป็นน้ำ พบได้บ่อยในเด็ก ในรายที่มีอาการรุนแรงและไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยอาจตายในเวลา 2-3 ชั่วโมง และอัตราป่วยตายสูงมากกว่าร้อยละ 50 แต่ถ้าได้รับการรักษาถูกต้องและทันท่วงที อัตราป่วยตายจะลดลงเหลือต่ำกว่าร้อยละ 1
วิธีติดต่อ
ติดต่อโดยการกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อที่มีชีวิตปนอยู่ เชื้อ El Tor สามารถมีชีวิตอยู่ในน้ำได้เป็นเวลานาน การรับประทานอาหารทะเลดิบ หรืออาหารดิบๆสุกๆ เป็นสาเหตุของการระบาดทั่วไป การติดต่อระหว่างบุคคลสู่บุคคลโดยตรง พบได้น้อยมาก
ระยะฟักตัว
ตั้งแต่ 2-3 ชั่วโมง ไปจนถึง 5 วัน เฉลี่ยประมาณ 2-3 วัน
ระยะติดต่อ
ตลอดระยะเวลาที่ตรวจพบเชื้อในอุจจาระ ซึ่งปกติจะพบเชื้อได้อีก 2-3 วัน หลังจากผู้ป่วยอาการดีขึ้นแล้ว แต่บางรายอาจกลายเป็นพาหะต่อไปได้อีกหลายเดือน การให้ยาปฏิชีวนะ เช่น tetracycline จะช่วยลดระยะเวลาการแพร่เชื้อ ในผู้ใหญ่พบว่าการติดเชื้อเรื้อรังที่ทางเดินน้ำดี อาจเป็นได้นานเป็นปี และร่วมกับมีการปล่อยเชื้อ Vibrio ออกมากับอุจจาระเป็น ระยะได้