ได้คำตอบแล้ว! ทำไมหมอใช้เวลาตรวจคนไข้น้อย สิทธิบัตรทอง-ประกันสังคม
สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน เผยสาเหตุ หมอไทยใช้เวลาตรวจคนไข้น้อย ทั้งสิทธิบัตรทอง-ประกันสังคม เหตุหมอขาดแคลน คนไข้เยอะ ชี้ทุกวันนี้บุคลากรทางการแพทย์โดนใช้งานเยี่ยงวัวควาย ระบบบั่นทอนหมอกับคนไข้
จากประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับแพทย์ท่านหนึ่งออกมาเล่าประสบการณ์การตรวจรักษาในโรงพยาบาลคู่สัญญาประกันสังคม ที่ต้องทำเวลา 1 ชั่วโมงควรตรวจคนไข้เกิน 6 คน และไม่ควรสั่งส่งตรวจมากเกินไป ทั้งๆที่เป็นสิทธิผู้ประกันตน กระทั่งสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ออกมายืนยันว่ามีมาตรฐานทางการแพทย์ พร้อมตรวจสอบรพ.ว่ามีการให้บริการตามมาตรฐานหรือไม่ ขณะที่ส่วนหนึ่งมองว่าไม่ใช่แค่รพ.ประกันสังคม ในส่วนรพ.ของรัฐ อย่างบัตรทองก็ไม่แตกต่างกันนั้น
สาเหตุแพทย์ไทยใช้เวลาตรวจคนไข้น้อย
เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พญ.ชุตินาถ ชินอุดมพร ผู้แทนสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน โพสต์ข้อความถึงประเด็นดังกล่าว ระบุว่า "เป็นไปไม่ได้"ที่หมอไทยจะตรวจคนไข้ได้นานกว่านี้
ใช่ ยกเว้นเป็นเอกชน High-end หรือโรงพยาบาลที่มีการจำกัดจำนวนคนไข้ต่อวัน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิประกันสังคม หรือสิทธิบัตรทอง คุณก็จะเจอเรื่องเดียวกันหมด โดยเฉพาะถ้าคุณเพิ่งเจ็บป่วยได้ไม่กี่วัน เป็นหวัด ท้องเสีย เวลาที่คุณจะได้ตรวจ ยิ่งสั้นกว่านั้น
ถามว่าเพราะอะไร มันคือเรื่องอัตราการกระจายตัวของแพทย์ ที่กำหนดหลวมๆไว้ว่า 1:1000 แต่หลายจังหวัดก็ยังไม่ถึง อย่างบึงกาฬ ที่แทบจะมีหมอ 1:5000 ความเป็นไปได้ที่คุณจะได้เวลาตรวจนานอย่างที่ใจหวังแทบไม่มี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หมอที่นำมาคิด คือหมอทุกประเภท ทุกสาขา แน่นอนว่าหมอกระดูก ก็ไม่มาตรวจโรคหัวใจ หมอนิติเวช ก็คงไม่มาส่องกล้องให้ ดังนั้น ตัวเลขกระจายหมอที่คุณต้องไปหายิ่งน้อยกว่านั้น
ถามว่าแล้วกระทรวงสาธารณสุขมองเรื่องนี้ว่ายังไง กับเรื่องที่กล่าวกันซ้ำๆว่า รอหมอหลายชั่วโมง ได้เจอไม่ถึงสิบนาที ต้องบอกว่ากระทรวงก็เป็นหนึ่งในคนกำหนดอัตราบุคลากร ด้วยมาตรฐานการตรวจ 7 นาที/คน (หรือคิดเป็นเกือบ 9 คนต่อชั่วโมง) ดังนั้นคลิปที่เป็นข่าวว่าอยากให้ตรวจได้มากกว่าชั่วโมงละ 6 คน ถือว่าปราณีมากกว่าในคู่มือโครงสร้างและกรอบอัตรากำลัง ปี พ.ศ. 2560-2564 ของกระทรวงสาธารณสุขมากแล้ว ที่ต้องเร่งตรวจมากกว่านั้น
สธ.กำหนดหมอตรวจเคสฉุกเฉิน 1 คนต่อ 15 นาที
ซึ่งอันนี้หมอหลายคนอาจจะเข้าใจได้ เพราะในชีวิตจริง โรคไม่ซับซ้อนเราอาจใช้เวลาตรวจราว 7 นาที หรือน้อยกว่านั้น แต่ที่กระทรวงเขียนมาว่าเคสฉุกเฉินควรใช้เวลา 15 นาที นี่เหมาะสมจริงหรือไม่ (นับเวลาซักประวัติตรวจร่างกายตอนแรก เขียนเวชระเบียน สั่งการตรวจเพิ่มเติม - หมอหลายที่ต้องเขียนเเลป คีย์แลปเองด้วย - รอผลตรวจ อ่านผลตรวจ วางแผนการรักษา คุยกับผู้ป่วยและญาติ และหากต้องสังเกตอาการในโรงพยาบาล ต้องเขียน Admit อีก 15 นาทีจริงหรอ?)
ขาดแคลนกำลังคน หมอคนเดียวรับจบหมด
หลายอย่าง เราทำเพราะในระบบขาดคนทำหน้าที่ส่วนนั้น เช่นการแนะนำอาหารอย่างละเอียดในผู้ป่วยเบาหวาน การพูดคุยเรื่องปัญหาครอบครัว ปัญหาทางสังคม ซึ่งจริงๆแล้วนักสังคมสงเคราห์ะช่วยคุณได้มากกว่า และปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งนักจิตวิทยา ทำได้ดีกว่าหมอทั่วไป แต่เราไม่มีบุคลากรนั้นพอเลย ขาดแคลนกว่าหมอด้วยซ้ำ หมอคนเดียวเลยต้องรับจบหมด มันจึงเป็นไปอย่างครึ่งๆกลางๆ หมอที่มีใจจะพยายามถามคุณ จนไปถึงจุดหนึ่ง เขาอาจจะต้องยอมรับว่าปัญหาทางสุขภาพคือปัญหาสังคม ที่พวกเราทำได้แค่จ่ายยาลดอาการ ลดความทรมานได้เป็นแค่ครั้งคราวเท่านั้น แต่ไม่สามารถหาทางช่วยเหลืออื่นๆได้อย่างจนปัญญา
เปรียบหมอ-คนไข้ คือ เครื่องจักรและสินค้าในโรงพยาบาล
ปัญหาเรื่องโรงพยาบาลคือทางออกเดียวของความเจ็บป่วย เพราะความรู้เรื่องการแพทย์ถูกผูกขาดไว้กับคนในแวดวงสาธารณสุข การศึกษาถูกออกแบบมาเพื่อให้เราใช้ชีวิตในคาบสุขศึกษาแบบที่ไม่มีอะไรตามออกมา การรอการใช้บริการไม่สิ้นสุด ใช้วันลาการทำงานที่มีผลต่อเงินโบนัส การเลื่อนตำแหน่ง หน้าที่การงานที่บอกว่าเราห้ามป่วย ใช้เวลาร่วมกันด้วยเศษเวลา และเลื่อนไปตามจุดของการตรวจ คัดกรอง รอตรวจ ตรวจ รอรับยา รอเจาะเลือด รับยา ในขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งโดนใช้งานเยี่ยงวัวควาย เป็นเหมือนตราปั๊มให้คุณไปจุดต่อไปได้ ระบบนี้ไม่ได้ทำให้ความเป็นมนุษย์เคยเพิ่มขึ้นเลย กลับกัน มันยิ่งบั่นทอนและแยกพวกเราออกจากกัน คุณเป็นคนไข้ ฉันเป็นหมอ