แนะยาสมุนไพรไทยบรรเทาอาการป่วยอากาศหนาว
แนะยาสมุนไพรบรรเทาอาการเจ็บป่วยช่วงอากาศหนาว ช่วยโรคหวัด เมื่อแพ้อากาศ รวมถึงสมุนไพรที่ช่วยอาการทางผิวหนัง ผิวแห้งและแตก ให้กลับมาเต่ง ตึงสดใส
ในช่วงฤดูหนาวอากาศเย็น หรืออุณหภูมิลดลง เป็นสาเหตุให้ประชาชนส่วนใหญ่มีอาการเจ็บป่วยได้ง่าย อาทิ โรคระบบทางเดินหายใจ อาการปวดกล้ามเนื้อ และอาการทางผิวหนัง ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยสามารถช่วยเสริมสร้างสุขภาพและ ช่วยป้องกันโรคและอาการดังกล่าว
โรคระบบทางเดินหายใจ เช่น อาการไข้หวัด เจ็บคอ อาการที่เกิดจากการแพ้อากาศ ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่สามารถใช้ยาสมุนไพรเพื่อบรรเทาอาการ ได้แก่ ยาฟ้าทะลายโจร สรรพคุณบรรเทาอาการของโรคหวัด (common cold) เจ็บคอ รับประทานครั้งละ 1.5 กรัม – 3 กรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน มีข้อห้ามใช้ในผู้หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ผู้ที่แพ้ฟ้าทะลายโจร ในผู้ป่วย ที่มีอาการเจ็บคอ เนื่องจากติดเชื้อแบคทีเรียเกิดอาการรุนแรง ยาปราบชมพูทวีป สรรพคุณ บรรเทาอาการหวัดในระยะแรก และอาการที่เกิดจากการแพ้อากาศ รับประทานวันละ 3 - 4 กรัม แบ่งให้วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร มีข้อห้ามใช้ ในกรณีที่มีไข้ หญิงตั้งครรภ์ เด็ก และผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อนจากการแพ้อากาศ
อาการปวดกล้ามเนื้อ ยาเถาวัลย์เปรียง สรรพคุณ บรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และลดการอักเสบของกล้ามเนื้อ รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม – 1 กรัม วันละ 3 ครั้ง หลังอาหารทันที มีข้อห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ ยาประคบ หรือ ลูกประคบ สรรพคุณ เพื่อลดอาการปวด ช่วยคลายกล้ามเนื้อ เอ็นและข้อ นำยาประคบไปนึ่ง แล้วใช้ในขณะยังอุ่น วันละ 1 – 2 ครั้ง ลูกประคบ 1 ลูก สามารถใช้ได้ 3 – 4 ครั้ง ห้ามประคบบริเวณที่มีบาดแผล และไม่ควรใช้ลูกประคบที่ร้อนเกินไป
อาการทางผิวหนัง ผิวแห้งและแตก แนะนำ ว่านหางจระเข้ หรือ น้ำมันมะพร้าวสรรพคุณเพิ่มความชุ่มชื้น ทาบริเวณผิวหนัง เช้า - เย็น หรือเมื่อมีอาการ การใช้ยาสมุนไพรไทยเหล่านี้ก่อนใช้ควรอ่านฉลากยาให้เข้าใจและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์แผนไทยหรือแพทย์แผนไทยประยุกต์ก่อนใช้ยา
ในฤดูหนาวจะมีตำรับยาสมุนไพร เรียกว่า พิกัดยาตรีสาร ยาสมุนไพรที่มีรสร้อน 3 ชนิด ใช้อัตราส่วนตัวยาสมุนไพรเท่ากัน 1:1:1 ได้แก่ รากเจตมูลเพลิง เถาสะค้าน และรากช้าพลู พิกัดยาตรีสารเหมาะสำหรับใช้ในฤดูหนาวเนื่องจากจะช่วยเพิ่มความอบอุ่นแก่ร่างกาย ช่วยกระจายเลือดลม และบำรุงธาตุ ซึ่งยาเหล่านี้หาซื้อได้ตามร้านขายยาสมุนไพร หรือ ร้านขายยาสมุนไพรจีน หรือแม้กระทั่งตามคลินิกการแพทย์แผนไทย ก็มีตัวยาเหล่านี้ที่สามารถนำมาใช้ในการดูแลสุขภาพในช่วงฤดูหนาวได้เช่นกัน