ไลฟ์สไตล์

เอนเทอโรไวรัส อัตราเสียชีวิตกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน พบได้น้อย

เอนเทอโรไวรัส อัตราเสียชีวิตกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน พบได้น้อย

10 ม.ค. 2568

เหตุจากติดเชื้อเอนเทอโรไวรัส กรมการแพทย์ ชี้อัตราเสียชีวิตกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน ในเด็กสุขภาพแข็งแรง พบได้น้อยเพียง 1 ใน 5 แสน

 

จากกรณีข่าวในโซเชียลมีเดียโพสต์ถึงอาการของเด็กคนหนึ่ง ที่เริ่มต้นด้วยอาการไข้ต่ำๆ ต่อมามีอาการชักเกร็งและหัวใจหยุดเต้นอย่างฉับพลัน แพทย์ผู้ดูแลวินิจฉัยว่า น่าจะเกิดจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ  ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 มกราคม นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากข้อมูลทางการแพทย์พบว่า อัตราการเสียชีวิตจากกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน ในเด็กที่สุขภาพแข็งแรงดีมาก่อนพบได้น้อยมาก ประมาณ 1 ต่อ 5 แสน ถึง 1 ในล้านราย ซึ่งเทียบได้กับโอกาสการเสียชีวิตจากการถูกฟ้าผ่า โดยพบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีความเสี่ยงมากกว่าเด็กโต เชื้อที่เป็นสาเหตุส่วนใหญ่เป็นเชื้อไวรัส โดยหลัก ๆ จะเป็นเชื้อกลุ่ม เอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายพันธุ์ 71 ที่ทำให้เกิดโรคมือ เท้า ปาก ชนิดรุนแรง หรือเชื้อ COVID-19 ซึ่งปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันแล้ว

 

เอนเทอโรไวรัส อัตราเสียชีวิตกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน พบได้น้อย

 

ด้าน นพ.อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ เพิ่มเติมว่า ในยุคโซเชียลมีเดีย เมื่อมีข่าวที่กระทบความรู้สึกรุนแรง เช่น กรณีเด็กป่วยหนัก สมองของเราจะจดจำและระลึกถึงเหตุการณ์นั้นได้ง่ายกว่าข่าวทั่วไป เพราะเป็นธรรมชาติของสมองที่จะให้ความสำคัญกับเรื่องที่สะเทือนใจ เมื่อข่าวถูกแชร์ต่อกันอย่างกว้างขวาง อาจทำให้รู้สึกว่าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นบ่อยกว่าความเป็นจริง นักจิตวิทยาเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Retrievablility bias หรือความโน้มเอียงที่เกิดจากเรื่องนึกออกง่าย จนบางครั้งสิ่งที่เราเผชิญอาจไม่ใช่การระบาดของโรค (Epidemic) แต่เป็นการระบาดของข้อมูลข่าวสารมากกว่า 

 

เอนเทอโรไวรัส อัตราเสียชีวิตกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน พบได้น้อย

 

โดยทั่วไปเชื้อกลุ่มนี้ไม่ได้ติดต่อผ่านการหายใจ รับเชื้อจากในอากาศเข้าไปโดยตรง แต่มักติดต่อจากการสัมผัสผ่านละอองฝอย หรือการสัมผัสเชื้อจากพื้นผิวแล้วนำมือมาสัมผัสใบหน้า การป้องกันทำได้โดย หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด ใส่หน้ากากอนามัยในเด็กอายุ 2 ปีขึ้นไป และล้างมือบ่อยๆ แม้ว่าโรคนี้จะพบไม่บ่อยแต่ ผู้ปกครองควรสังเกตอาการ โดยเฉพาะเมื่อเด็กไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ เช่น ไม่เล่น ไม่รับประทานอาหาร ไม่สามารถนอนหลับพักได้ หรือมีอาการกระสับกระส่าย หรือผวากระตุกบ่อยผิดปกติ ควรรีบพาไปพบแพทย์ แต่หากเป็นอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก และเมื่อไข้ลงสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ผู้ปกครองพิจารณาการให้วัคซีนเสริมป้องกันป้องกันการติดเชื้อเพื่อลดความเสี่ยงต่อสายพันธุ์ที่รุนแรงได้ อย่างไรก็ตาม สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และทบทวนกรณีสำคัญอย่างต่อเนื่อง พบว่าในแต่ละปีมีเด็กที่เข้ารับการรักษาหรือเสียชีวิตด้วยภาวะแบบนี้น้อยมาก ซึ่งขอยืนยันถึงความพร้อมให้การดูแลรักษาอย่างเต็มความสามารถ รวมถึงมีการสื่อสารข้อมูลและคำแนะนำที่จำเป็นแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง  

 

เอนเทอโรไวรัส อัตราเสียชีวิตกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน พบได้น้อย