ไลฟ์สไตล์

แก้ไขกฎหมาย "อุ้มบุญ"  รับ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม คนโสดอยากมีลูก ครอบคลุมแค่ไหน

แก้ไขกฎหมาย "อุ้มบุญ" รับ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม คนโสดอยากมีลูก ครอบคลุมแค่ไหน

14 ม.ค. 2568

อธิบดี สบส. เสนอร่าง พ.ร.บ.อุ้มบุญ ถึง รมว.สาธารณสุข ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. และสภาฯ ต่อไป พร้อมตอบข้อสงสัยร่างกฎหมายจะครอบคลุมคู่สมรสเท่าเทียมหรือไม่ หรือคนโสดอยากมีลูก จะอุ้มบุญได้หรือไม่

นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการปรับปรุงแก้ไขร่างพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ... (พ.ร.บ..อุ้มบุญ) เพื่อรองรับการมีบุตรตาม พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม พ.ศ. ว่า การแก้ไขร่างพ.ร.บ.อุ้มบุญตอนนี้ทางกรมได้มีการนำเสนอไปยัง รมว.สาธารณสุขเพื่อพิจารณานำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ทราบว่า ทางฝ่ายกฎหมายสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ซึ่งยังไม่ทราบว่า จะเสนอเข้าครม.ได้เมื่อไหร่ ซึ่งตามกระบวนการหากผ่านครม.แล้ว ก็จะมีการนำเข้าสู่การพิจารณาในสภาต่อไป ไม่สามารถทราบได้ว่าจะเร็วหรือช้า 

 

แก้ไขกฎหมาย \"อุ้มบุญ\"  รับ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม คนโสดอยากมีลูก ครอบคลุมแค่ไหน

สาระสำคัญร่างกฎหมายอุ้มบุญ

สาระสำคัญที่มีการปรับปรุง นพ.ภานุวัฒน์ กล่าวว่า ในส่วนของนิยาม จากเดิมที่ใช้คำว่าสามีภรรยา หรือสามีภริยา จะเปลี่ยนเป็น คู่สมรสตามนิยามของพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม รวมถึง เดิมมีเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องที่กำหนดให้ต้องเป็นสามีภริยาที่เป็นเพศชายกับเพศหญิง แต่ฉบับใหม่ไม่ได้มีเงื่อนไขเรื่องของเป็นคู่สมรสผู้ชาย-ผู้หญิง ผู้ชาย-ผู้ชายหรือผู้หญิง-ผู้หญิง

 

คนโสดอยากมีลูก อุ้มบุญได้หรือไม่

กรณีที่จะเปิดให้คนโสดมีบุตรด้วยการทำอุ้มบุญ นพ.ภานุวัฒน์ กล่าวว่า กรณีหญิงตั้งครรภ์เองไม่ได้มีปัญหา แต่กรณีให้มีการตั้งครรภ์แทน ณ ปัจจุบันกฎหมายไม่ได้ปรับปรุงแก้ไขไปถึงตรงนี้ แต่เริ่มมีการศึกษาและมีแนวโน้มว่าหญิงที่ไมอยากแต่งงาน ไม่อยากตั้งครรภ์เอง แทนที่จะไปเลี้ยงสัตว์เป็นเหมือนลูก ก็อยากได้บุตรที่เป็นทายาทหรือบัตรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับตัวเขาแล้วมาดูแลตอนแก่

 

แก้ไขกฎหมาย \"อุ้มบุญ\"  รับ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม คนโสดอยากมีลูก ครอบคลุมแค่ไหน

หากร่างกฎหมายผ่านจะครอบคลุมคู่สมรสเท่าเทียมทำอุ้มบุญได้

ถามย้ำว่าเมื่อพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้แล้ว คู่สมรสชาย-ชาย หญิง-หญิงสามารถทำอุ้มบุญได้ นพ.ภานุวัฒน์ กล่าวว่า  ตามหลักการในพ.ร.บ.ที่แก้ไขสามารถทำได้ แต่จะมีหลักเกณฑ์ เงื่อนไขพอสมควร เพราะมีหลายฝ่ายบอกว่า กรณีเป็นคู่สมรสชาย-ชาย หากอนาคตมีการเลิกรากันไปแล้วใครจะเป็นคนรับผิดชอบดูแลบุตร จึงยังมีสิ่งที่ต้องพิจาณาอีกมากในส่วนของกฎหมายลูก เพียงแต่เมื่อมีความก้าวหน้าในเรื่องพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมก็ต้องเปิดช่องให้ดำเนินการเรื่องอุ้มบุญได้ แต่ในทางปฏิบัติต้องมีความละเอียดถี่ถ้วน ต้องรับฟังความคิดเห็นหลายด้าน

นพ.ภานุวัฒน์ กล่าวด้วยว่า  ข้อกำหนดที่มีการเปลี่ยนแปลงถ้าร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่ผ่าน คือกรณีคนต่างชาติ ให้คู่สมรสที่เป็นต่างชาติ สามารถนำหญิงอุ้มบุญที่เป็นต่างชาติเช่นกันเข้ามาดำเนินการทำอุ้มบุญในประเทศไทยได้  จากเดิมที่กำหนดให้ต้องเป็นชาวต่างชาติที่แต่งงานกับคนไทย หรือคนไทยที่เป็นคู่สมรสต่างชาติถึงจะทำได้ นับเป็นการเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาทำอุ้มบุญในไทยได้

รวมถึง กรณีจากเดิมไม่ให้มีการนำออกไปซึ่งเซลล์ อสุจิ ตัวอ่อน หรือไข่  แต่หลังมีการแก้ไขจะมีเกณฑ์พิจารณาให้คู่สมรสต่างชาติที่เข้ามาดำเนินการในประเทศไทย สามารถนำตัวอ่อนกลับไปประเทศของเขาได้ โดยจะมีคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ภายใต้พ.ร.บ.อุ้มบุญจะต้องพิจาณาออกหลักเกณฑ์พิจารณา จากนั้นผู้ที่ประสงค์จะนำออกนอกประเทศจะต้องยื่นขออนุญาตการนำออก ซึ่งจะมีคณะกรรมการฯพิจารณา

 

 

แก้ไขกฎหมาย \"อุ้มบุญ\"  รับ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม คนโสดอยากมีลูก ครอบคลุมแค่ไหน

 

 

จะเกิดโอกาสค้ามนุษย์ได้หรือไม่..

“กรณีมีข้อกังวลว่าจะทำให้เกิดโอกาสใการค้ามนุษย์หรือไม่นั้น หากไม่มีการดำเนินการตามที่พ.ร.บ.มีการปรับปรุง เมื่อมีการทำใต้ดินก็จะไม่รู้เลยว่ามีใครนำออกไป แต่เมื่อมีการเปิดให้ยื่นเสนอพิจารณาขออนุญาตนำออกไป เมื่อมีการพิจารณาละเอียดถี่ถ้วน องค์ประกอบต่างๆในประเทศเขาจะรองรับได้หรือไม่ และเมื่อไปอยู่ในประเทศเขาแล้วสามารถติดตามได้หรือไม่ ก็จะทำให้มีระบบติดตามได้ดีกว่า เชื่อว่าถ้าอยู่ถูกต้อง บนโต๊ะจะทำให้ลดปัญหาค้ามนุษย์ได้ดีกว่าการห้ามแล้วมีการลักลอบทำใต้ดินอยู่ดี”นพ.ภานุวัฒน์กล่าว

 

 

ห้ามจ้างอุ้มบุญเช่นเดิม

พ.ร.บ.ฉบับเดิมห้ามไม่ให้มีการจ้าง ใกฎหมายฉบับใหม่ไม่ได้มีการแก้ไขในส่วนนี้ ยังกำหนดให้คนที่จะรับอุ้มบุญเป็นญาติ รวมถึง คู่สมรสต่างชาติด้วย หญิงที่นำมาอุ้มบุญก็จะต้องเป็นญาติและมีกระบวนการตรวจสอบ ยืนยันไม่ได้อนุญาตให้ทำในเชิงธุรกิจของการรับตั้งครรภ์แทน ยิ่งในประเทศไทยยิ่งห้ามไม่ให้มีการชักชวน เชิญชวนให้มีการมารับอุ้มบุญแทน ส่วนใหญ่หญิงที่มาตั้งครรภ์แทนจะต้องเป็นญาติหรือคนที่เกี่ยวข้องที่ยินยอม

 

เพิ่มบทลงโทษคนทำผิด

มีการเพิ่มบทลงโทษในกรณีการกระทำความผิดที่ทำในเชิงการค้ามุนษย์หรือทำในเชิงธุรกิจการค้าที่ผิดกฎหมาย จะมีโทษที่รุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม อย่างเช่น  บางฐานความผิดที่กำหนดโทษจำคุก1-2 ปี ก็จะเพิ่มโทษ จำคุกและปรับเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น ซึ่งเมื่อความศักด์สิทธิ์และโทษของกฎหมายมากขึ้น จะทำให้คนไม่กล้าที่จะกระทำความผิด และถ้ามีการกระทำความผิดนอกราชอาณาจักรในเรื่องนี้ ให้เสมือนว่าทำผิดในราชอาณาจักรด้วย

 

แก้ไขกฎหมาย \"อุ้มบุญ\"  รับ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม คนโสดอยากมีลูก ครอบคลุมแค่ไหน

 

 

ภาพรวมส่วนที่มีการปรับปรุงกฎหมาย 

1.เปลี่ยนจากนิยามคู่สามีภริยาเป็นคู่สมรสตามพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม

2.ให้คู่สมรสที่เป็นชาวต่างชาติทั้งคู่สามารถเข้ามาทำอุ้มบุญในประเทศไทยและสามารถนำตัวอ่อน ไข่ อสุจิ กลับไปประเทศได้แต่จะต้องผ่านกระบวนการพิจารณาอนุญาต

3. บทลงโทษที่รุนแรงขึ้นในกรณีคนที่ทำผิด”นพ.ภานุวัฒน์กล่าว