ไทยยกระดับ "ไข้หวัดนก" หวั่นไวรัสกลายพันธุ์สู่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
ไทยยกระดับคุมเข้ม "ไข้หวัดนก" หวั่นไวรัสกลายพันธุ์สู่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อาจข้ามสู่คนได้ ทั้งนี้ยังระวังฝีดาษวานร-โรคเขตร้อนที่ถูกละเลย
พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า "ไข้หวัดนก ว่า ต้นปี 2568 มีรายงานผู้ป่วยไข้หวัดนกเสียชีวิตที่ประเทศสหรัฐอเมริกา 1 ราย และประเทศกัมพูชา 1 ราย ซึ่งไข้หวัดนกมีสัญญาณที่ต้องระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีการกระดกขึ้นของการพบไข้หวัดนกในสัตว์ปีกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งในประเทศไทยมีการยกระดับการเฝ้าระวังทั้งในคนและในสัตว์"
“การที่ต้องยกระดับเนื่องจากการติดเชื้อจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วโลกในปี 2567 สูงขึ้น และผู้ป่วยที่สหรัฐอเมริกาจำนวน 66 รายอาการไม่หนัก ส่วนหนึ่งเป็นเกษตรกรอยู่ในฟาร์มโคนม ไม่ได้สัมผัสแต่สัตว์ปีก และเมื่อไวรัสมีการกลายพันธุ์เข้ามาสู่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อาจจะสามารถปรับเปลี่ยนสายพันธุ์และเข้ามาสู่คนได้ ถือเป็นสัญญานอย่างหนึ่งที่ต้องระวัง” พญ.จุไรกล่าว
นพ.วีรวัฒน์ กล่าวเสริมว่า โดยปกติไข้หวัดนกจะติดต่อมาสู่คนจากสัตว์ที่มีเชื้อ ไม่ได้ติดต่อระหว่างคนสู่คน ไม่เหมือนไข้หวัดใหญ่ที่ต่อติดจากคนสู่คนได้ แต่เมื่อเชื้อมีการกลายพันธุ์และเกิดการผสมพันธุ์ระหว่างไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่และไข้หวัดคนเกิดขึ้น อาจจะมีความสามารถในการแพร่กระจายเชื้อจากคนไปสู่คนได้ จากเดิมที่ไม่มีคุณสมบัตินี้อยู่ จึงเป็นเรื่องที่ทั่วโลกกังวลเพราะเริ่มมีการกลายพันธุ์มากขึ้นแล้ว
ปี 67 ฝีดาษวานร ลดลงกว่า 3 เท่า
นพ.วีรวัฒน์ กล่าวถึงโรคฝีดาษวานรว่า ทั่วโลกคนไข้ลดน้อยลงสำหรับประเทศไทยปี 2567 คนไข้หทั้งหมด 176 ราย ลดลงปี 2566 จำนวน 676 ราย ประมาณ 3 เท่ากว่า ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย วัยกลางคน ในการป้องกัน
1. หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนไม่รู้จักหรือผู้มีผื่นสงสัย เพื่อป้องกันโอกาสเสี่ยงสัมผัสผื่นหรือสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย
2 .หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด สัมผัสผู้มีผื่นสงสัย ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น
3. ล้างมือทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันโรค
4. เฝ้าระวังสังเกตอาการเบื้องต้น โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรังหรือภูมิคุ้มกันต่ำและเด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี
หากมีอาการสงสัยให้รีบพบแพทย์ทันที อย่าชะล่าใจ เนื่องจากมีโอกาสอาการรุนแรงและอาจเสียชีวิตได้
โดยประชากร 1 ใน 5 ของโลกป่วยด้วยโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย เนื่องจากส่วนใหญ่จะเกิดในประเทศที่กำลังพัฒนา จึงอาจจะไม่ได้รับความสนใจ ในเรื่องยา วัคซีนมากนัก ส่วนโรคที่พบในประเทศไทย ได้แก่ ไข้เลือดออก มาลาเรีย โรคลิชมาเนีย โรคเท้าช้าง วัณโรค โรคพิษสุนัขบ้า โรคเรื้อนและโรคพยาธิต่างๆ โดยประเทศไทยไม่ได้ละเลยโรคเหล่านี้ทราบอยู่ว่าเป็นโรคที่เป็นปัญหาของประเทศ แต่ต้องเน้นย้ำให้เห็นความสำคัญของโรคเหล่านี้เพราะระดับโลกก็ให้ความสำคัญ