
5 พฤติกรรมเสี่ยงที่ควรหลีกเลี่ยง ไม่เสี่ยงป่วยเบาหวาน
"เบาหวาน" เป็นโรคเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพหลายระบบ ส่งต่อไปยังส่วนอื่นๆของร่างกาย เปิด 5 พฤติกรรมเสี่ยงที่ควรหลีกเลี่ยง ไม่เสี่ยงป่วยเบาหวาน
โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพหลายระบบทั้ง ตา ไต หัวใจ สมอง และหลอดเลือดแดงรวมทั้งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ควรดูแลและป้องกันโรคเบาหวานด้วยการปรับพฤติกรรมการบริโภคและออกกำลังกาย
5 พฤติกรรมเสี่ยงที่ควรหลีกเลี่ยง ไม่เสี่ยงป่วยเบาหวาน
1. ชอบกินอาหารรสจัด
อาหารรสจัด ไม่ว่าจะหวานจัด มันจัด หรือเค็มจัด ต่างก็ไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อร่างกายทั้งนั้น อย่างคนที่ชอบกินมันจัด คุณหมอบอกเลยว่าไม่ใช่แค่โรคเบาหวานที่ต้องระวัง แต่โรคเส้นเลือดหัวใจตีบตันก็อาจจะถามหาด้วย ยิ่งถ้าเป็นสายที่ชอบกินหวานจัด หรืออาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูงอย่าง แป้ง น้ำตาล ก็ทำให้เกิดการสะสมปริมาณสารอาหารที่ไม่จำเป็นไว้ จนกลายเป็นการสะสมของระดับน้ำตาลในเลือดตามมาได้เช่นกัน
2. อ้วน น้ำหนักเกิน ไขมันสูง
ชอบกินของทอด ของมัน ครีม เนย ชีส หรือของที่มีรสหวาน พฤติกรรมเหล่านี้ล้วนเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานทั้งนั้น เพราะเมื่อน้ำหนักตัวมากขึ้น มีไขมันสะสมเยอะ ก็จะทำให้ตับอ่อนต้องทำงานหนัก เมื่อทำงานหนักก็จะยิ่งเสื่อมเร็วขึ้น ส่งผลให้ร่างกายผลิตอินซูลินได้น้อยลง ระดับน้ำตาลในเลือดก็สูงขึ้น ซึ่งถ้าร่างกายไม่ได้มีการดึงเอาน้ำตาลมาใช้ ก็จะทำให้เกิดภาวะระดับน้ำตาลสูง เสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย
3.ไม่ยอมออกกำลังกาย
เพราะโรคเบาหวานเกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถใช้น้ำตาลให้เป็นพลังงานได้อย่างเต็มที่ ทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง จนเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ การออกกำลังกายที่พอเหมาะจะช่วยให้ร่างกายตอบสนองกับอินซูลิน ซึ่งเป็นตัวควบคุมน้ำตาลไม่ให้สูงเกินปกติได้ดีขึ้น ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดโดยเผาผลาญให้กลายเป็นพลังงาน
4.เครียด
รู้หรือไม่ ว่าความเครียดนั้นเป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงของหลากหลายโรค และหนึ่งในนั้นก็คือเบาหวาน เพราะเวลาที่เราเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมา และฮอร์โมนนี้เองที่จะไปกระตุ้นให้ร่างกายปล่อยพลังงานออกมาในรูปแบบของน้ำตาล พูดง่ายๆ คือยิ่งเครียดมาก ระดับน้ำตาลในเลือดก็ยิ่งสูงมากขึ้นนั่นเอง
5. ดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่หนัก
ความเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวาน เพราะตับที่เป็นอวัยวะหลักในการทำลายแอลกอฮอล์ในกระแสเลือด จะต้องใช้เวลาถึง 1 ชั่วโมงในการทำลายแอลกอฮอล์ 1 ดริ๊งค์นั่นแปลว่า ถ้ากินเกิน 2 ดริ๊งค์ ตับจะเริ่มทำงานหนักเกินกำลัง เกิดการสะสมไขมันไตรกลีเซอไรด์ในตับ จนกลายเป็นภาวะไขมันเกาะตับ ซึ่งส่งผลให้ร่างกายดื้อต่ออินซูลิน นอกจากนี้การสูบบุหรี่ก็จะยิ่งทำให้การทำงานของอินซูลินแย่ลง ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น
ปัจจัยใดบ้าง ทำให้เสี่ยง ต่อการเกิดโรคเบาหวาน
- อายุที่เพิ่มมากขึ้น
- ไขมันในเลือดสูง
- ความดันโลหิตสูง
- ไม่ออกกำลังกาย
- สตรีที่มีโรคถุงน้ำในรังไข่
- ประวัติเบาหวานขณะตั้งครรภ์
- ผู้ที่เป็นโรคอ้วนและมีน้ำหนักตัวเกิน
- ประวัติคลอดบุตรน้ำหนักเกิน 4 กิโลกรัม
- พันธุกรรม ประวัติครอบครัวเป็นเบาหวาน