"เบาหวาน" คร่าชีวิตวัยทำงานมากที่สุด
อันตราย! NCDs "โรคเบาหวาน" เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 1 ปี 66 พบคนไทยบริโภคน้ำตาลพุ่ง 18 ช้อนชา/วัน เกินมาตรฐานโลก
คนไทยป่วยNCDs 14 ล้านคน อัตราเสียชีวิต 76%
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีคนไทยกว่า 14 ล้านคน ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อ หรือ NCDs ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของประเทศ โดยมีอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ย 400,000 รายต่อปี หรือคิดเป็น 76% ของการเสียชีวิตทั้งหมด ส่งผลเสียต่อมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจกว่า 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี หรือประมาณ 9.7% ของ GDP นอกจากนี้ ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ยังเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพแรงงานและเศรษฐกิจของประเทศ ในภาคอุตสาหกรรมมีคนวัยทำงาน 12 ล้านคน ที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการทำงานหนัก สภาพแวดล้อมไม่ปลอดภัย และเครียดจากการทำงาน การสร้างองค์กรสุขภาวะจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน
วัยทำงานส่วนใหญ่ป่วยโรค NCDs
สสส. เผยดัชนีความมั่นคงทางสุขภาพของไทย อยู่ที่อันดับ 5 ของโลก แต่มีอายุคาดเฉลี่ยปี 2567 อยู่ที่ 76.56 ปี เป็นอันดับ 78 ของโลก ซึ่งข้อมูลล่าสุดในปี 2565 พบสาเหตุการตายในกลุ่มอายุน้อยและวัยทำงาน 170,000 คน สาเหตุจากอุบัติเหตุและโรค NCDs สอดคล้องกับรายงานสุขภาพคนไทยปี 2566 โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และ สสส.พบว่า ไทยมีคนวัยทำงานอยู่ 39 ล้านคน และส่วนใหญ่ป่วยเป็นโรค NCDs
เบาหวาน คร่าชีวิตคนวัยทำงานมากที่สุด
ที่น่าสนใจยังพบว่ากลุ่มโรค NCDs ที่คร่าชีวิตคนวัยทำงานมากที่สุดอันดับ 1 คือ โรคเบาหวาน รองลงมาคือ โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วนลงพุง มีสาเหตุจากขาดการออกกำลังกาย บริโภคอาหารหวาน มัน เค็ม ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ข้อมูลด้านพฤติกรรมการบริโภคอาหารของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ปี 2566 พบว่า ไทยมีการบริโภคน้ำตาลทรายสูงถึง 1.7 ล้านตัน หรือประมาณ 18 ช้อนชาต่อวัน ซึ่งเกินเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด คือไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน ขณะที่ผลวิจัยเกียรตินาคินภัทร ปี 2567 ระบุ ตลาดแรงงานไทยเริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัย ส่งผลให้คนวัยทำงาน อายุ 15-60 ปี ลดลง เฉลี่ยปีละ 1.8% ต่อปี ไปจนถึงปี 2573 สวนทางกับประชากรผู้สูงอายุที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 10% ในปี 2555 เป็น 20% ในปี 2566 สร้างความท้าทายกับเศรษฐกิจใน 2 ด้าน 1.กำลังซื้อในประเทศจะลดลง 2.ผลิตภาพแรงงานลดลง