
โควิดลดลงสวนทางไข้หวัดใหญ่ระบาดคาดปี 68 อาจมีผู้ป่วยสูงถึง 9 แสนราย
โควิดลดลงเมื่อเทียบกับปี 67 สวนทางไข้หวัดใหญ่ พุ่งสูงขึ้นคาดการณ์ทั้งปี 68 ผู้ป่วยอาจสูงถึงกว่า 9 แสนราย ใขณะนี้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 9 ราย ด้าน สธ.เตรียมวัคซีนป้องกัน 7 กลุ่มเสี่ยง เริ่มฉีดช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค.68
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค(คร.) แถลงข่าว "รู้ทันโรค รู้ทันภัย" ป้องกันได้ ว่า สำหรับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ในปี 2568 มีผู้ป่วยสะสมระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 14 กุมภาพันธ์ อยู่ที่ 9,158 ราย อัตราป่วย 14.10 ต่อประชากรแสนคน โดยกลุ่มอายุที่พบการป่วยสูงสุดคือ เด็ก 0-4 ขวบ, อายุ 30-39 ปี และ อายุ 20-29 ปี ตามลำดับ มีผู้เสียชีวิตสะสม 4 ราย อัตราเสียชีวิตอยู่ที่ 0.006 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งผู้เสียชีวิตเป็นกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2567 พบว่า อัตราป่วยปี 2568 มีแนวโน้มลดลง ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นโรคไข้หวัดใหญ่มากกว่า อย่างไรก็ตาม มีการพยากรณ์โรคโควิด-19 ในปี 2568 คาดว่ามีผู้ป่วยลดลงเมื่อเทียบกับปี 2567 จะพบราว 551,182 ราย ผู้เสียชีวิต 220 ราย
สำหรับโรคไข้หวัดใหญ่ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 17 กุมภาพันธ์ พบผู้ป่วยสะสม 107,570 ราย เสียชีวิต 9 ราย คิดอัตราป่วยตายอยู่ที่ร้อยละ 0.008 แนวโน้มผู้ป่วยสูงขึ้นกว่าปี 2567 และสูงกว่าค่ามัธยฐานย้อนหลัง 5 ปี โดยกลุ่มอายุที่ป่วยสูงสุด คือ อายุ 5-9 ปี, อายุ 0-4 ปี และอายุ 10-14 ปี ตามลำดับ ส่วนสายพันธุ์ที่ตรวจพบมากที่สุด คือ สายพันธุ์ A/H1N1(2009) ร้อยละ 41.38 รองมาคือ สายพันธุ์ B ร้อยละ 37.9 และ A/H3N2 ร้อยละ 26.72 ทั้งนี้ การระบาดมักพบในโรงเรียนถึง 11 เหตุการณ์ เรือนจำ 3 เหตุการณ์ ค่ายทหาร 2 เหตุการณ์
7 กลุ่มเสี่ยงรับวัคซีนได้ช่วงเดือนพ.ค.-ส.ค.นี้
ประชาชนกลุ่มเสี่ยงสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ในช่วงของการรณรงค์ ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม - 31 สิงหาคม 2568 ได้แก่
1.หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 12-20 สัปดาห์
2.เด็กอายุ 6 เดือน - 2 ปี
3.ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง, หอบหืด, หัวใจและหลอดเลือด, ไตวาย, เบาหวาน, ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด
4.ผู้อายุมากกว่า 65 ปี
5.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
6.ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงผู้ป่วยติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ
7.ผู้มีภาวะโรคอ้วน ที่มีน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือมีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 35 (BMI)