
ไขความจริง! ทีมนักวิจัยชาวจีนเจอ โควิดสายพันธุ์ใหม่ HKU5 ในค้างคาว
ไขความจริง! ทีมนักวิจัยชาวจีนเจอ โควิดสายพันธุ์ใหม่ HKU5 ในค้างคาว มีความเสี่ยงต่อการติดต่อจากสัตว์ไปสู่คน ขณะนี้ยังไม่พบว่ามีการแพร่ระบาด
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ชี้แจงเกี่ยวกับข่าวการค้นพบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในค้างคาวจากทีมนักวิจัยชาวจีน ซึ่งมีความสามารถในการติดต่อไปยังมนุษย์ได้คล้ายกับไวรัสโควิด-19 ว่า ข้อมูลดังกล่าวได้มาจากการวิจัยในห้องแล็บที่มีการเผยแพร่ต่อสาธารณะ โดยเป็นการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพในการตรวจทางห้องปฏิบัติการ สายพันธุ์ HKU5-CoV-2 ที่ค้นพบนี้ เป็นความหลากหลายทางพันธุกรรมในไวรัสสกุล Merbecovirus ซึ่งไม่ถือว่าเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่หรือไวรัสกลายพันธุ์ แต่เป็นไวรัสในตระกูลโคโรน่าไวรัสที่มีหลายสายพันธุ์ย่อย
โดยนักวิจัยค้นพบว่ามีลักษณะการจับคู่ระหว่าง HKU5-CoV-2 กับ ACE2 ของมนุษย์ที่แตกต่างจากมาร์เบโควีโรสอื่น ๆ ส่งผลให้เกิดข้อสันนิษฐานในทางการวิจัยว่าอาจมีความเสี่ยงต่อการติดต่อจากสัตว์ไปสู่คนและอาจส่งผลให้เกิดการระบาด
“ขณะนี้ยังไม่พบว่ามีการแพร่ระบาดหรือข้อมูลทางระบาดวิทยาที่เกี่ยวข้องกับสายพันธุ์ HKU5-CoV-2 ในคนแต่อย่างไร ประชาชนจึงไม่ต้องวิตกกังวลในขณะนี้” นพ.โอภาส กล่าว
การค้นหาเชื้อไวรัสใหม่ในค้างคาว เช่นที่จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกากำลังดำเนินการ เป็นการวิจัยเพื่อเตรียมความพร้อม เนื่องจากไวรัสโคโรนามีหลายสายพันธุ์และมีการกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ เมื่อค้นพบไวรัสแล้วจะมีการศึกษาคุณสมบัติต่างๆ เพื่อต่อยอดไปถึงการพัฒนาวัคซีน ซึ่งความเสี่ยงของการติดเชื้อไวรัสจากค้างคาวมาสู่คนโดยตรงยังอยู่ในระดับต่ำถึงปานกลาง เนื่องจากโดยปกติเชื้อที่พบในค้างคาวมีปริมาณน้อย โอกาสที่คนจะไปสัมผัสกับค้างคาวก็ต่ำมาก และการติดต่อสู่คนมักต้องมีสัตว์ตัวกลางอื่น