
นอนน้อย พักผ่อนไม่เพียงพอ สาเหตุของ 5 โรคร้ายที่คุณคิดไม่ถึง
คุณกำลัง “นอนน้อย” อยู่หรือเปล่า? หากพักผ่อนไม่เพียงพอ อดนอนเรื้อรังนั้นถือเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ อีกหนึ่งสาเหตุของ 5 โรคร้ายที่คุณคิดไม่ถึง
การอดนอนเรื้อรังนั้นถือเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพและก่อให้เกิดโรคต่างๆ ทั้งร่างกาย อารมณ์ และจิตใจได้ วันนี้เราขอยกตัวอย่าง 5 โรคร้าย ภัยเงียบที่มาพร้อมกับการพักผ่อนไม่เพียงพอ และอาการจากการนอนน้อยที่เราต้องระวัง
ผลกระทบจากการพักผ่อนน้อยเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ
1. ระบบภูมิคุ้มกันลดลง
เนื่องจากเซลล์ Cytokines และ Antibody ที่ถูกผลิตขณะนอนหลับลดน้อยลง ทำให้ร่างกายสู้แบคทีเรีย ไวรัส และสิ่งแปลกปลอมได้ไม่เพียงพอ ส่งผลให้ร่างกายป่วยง่ายขึ้นนั่นเอง
2. ประสิทธิภาพการทำงานของสมองลดลง
เนื่องจากสมองไม่ได้ถูกซ่อมแซมได้ดีเท่าที่ควรจากการนอนน้อย พักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้กระบวนการคิด การแก้ปัญหา และสมาธิลดลง แถมยังส่งผลต่อความจำ ขี้ลืมง่ายขึ้น และอาจเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้
3. ผลกระทบต่อร่างกาย
การนอนน้อย พักผ่อนไม่เพียงพอ นอนไม่หลับจะทำให้ฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนต่ำลง รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงที่น้ำหนักตัวจะเพิ่มขึ้นและอาจนำไปสู่โรคอ้วนได้อีกด้วย
4. อารมณ์แปรปรวน
การนอนน้อย พักผ่อนไม่เพียงพอ ติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้เกิดอาการหงุดหงิดง่าย ควบคุมอารมณ์ได้ยาก และอาจส่งผลต่อสุขภาพจิตได้ในอนาคต
5 โรคร้าย ภัยเงียบที่มาพร้อมกับการพักผ่อนไม่เพียงพอ
1. โรคอ้วน
เพราะการนอนน้อย พักผ่อนไม่เพียงพอส่งผลต่อระดับฮอร์โมนที่ส่งผลต่อความรู้สึกอยากอาหารที่แปรปรวน ทำให้รู้สึกอิ่มช้าและอยากทานอาหารที่มีไขมันมากขึ้นเกินกว่าที่ร่างกายจะเผาผลาญได้ ร่างกายจึงสะสมพลังงานที่เหลือเอาไว้ในรูปของไขมันตามอวัยวะต่าง ๆ และก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพ อีกทั้งการนอนดึกอาจทำให้เราต้องทานมื้อดึกมากขึ้น
2. โรคเบาหวาน
เนื่องจากการพักผ่อนไม่เพียงพอหรือการนอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมง/วัน ส่งผลให้ระดับกลูโคสในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว 23% รวมทั้งระดับอินซูลินยังเพิ่มขึ้นถึง 48% นั่นเอง นอกจากนี้ผู้ที่มีโรคเบาหวานอยู่แล้วจะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะร่างกายดื้ออินซูลินจากนอนนอนหลับไม่เพียงพออีกด้วย
3. โรคนอนไม่หลับเรื้อรัง
หลายคนอาจเคยมีอาการนอนน้อย นอนหลับยาก ต้องใช้เวลาเกิน 30 นาทีเพื่อให้ร่างกายเข้าสู่โหมดนอนหลับ บางคนอาจมีอาการหลับ ๆ ตื่น ๆ รวมทั้งอาจสะดุ้งตื่นตอนกลางคืนและไม่สามารถหลับได้อีก ซึ่งหากคุณมีอาการเหล่านี้เกิน 1 เดือนให้สันนิษฐานได้ทันทีว่าเราอาจเข้าข่ายโรคนอนไม่หลับเรื้อรังแล้วนั่นเอง
4. โรคหลอดเลือดหัวใจ
ปกติแล้วร่างกายจะหลั่งสารโปรตีนออกมาในเวลาที่เราตื่น เมื่อร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอหรือนอนน้อย สารโปรตีนจะถูกผลิตออกมาซ้ำ ๆ และเข้าไปเกาะที่หลอดเลือดหัวใจมากกว่าปกติจนเกิดการอุดตัน ทำให้มีความดันเลือดมากขึ้นกว่าปกติ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจถึง 2 เท่า
5. อาการซึมเศร้า
เนื่องจากการนอนน้อย พักผ่อนไม่เพียงพอส่งผลต่อการผลิตฮอร์โมนที่ควบคุมการทำงานของสมอง ซึ่งส่งผลต่อภาวะทางอารมณ์โดยตรง เช่น อารมณ์แปรปรวน โกรธง่าย หงุดหงิดง่าย และส่งผลกระทบต่ออารมณ์และความคิดทำให้มีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่า 5 เท่าเลยทีเดียว แถมส่งผลให้เกิดอาการวิตกกังวลซึ่งจะเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าปกติถึง 17 เท่าอีกด้วย
ระยะเวลาของการนอนที่เพียงพอในแต่ละช่วงวัยนั้นก็แตกต่างกันอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น
เด็กแรกเกิด ควรนอนประมาณ 20 ชั่วโมง
อายุ 1 - 2 ขวบ ควรนอนประมาณ 12 ชั่วโมง
อายุ 3 - 5 ปี ควรนอนประมาณ 10 - 13 ชั่วโมง
อายุ 6 - 13 ปี ควรนอนประมาณ 9 - 11 ชั่วโมง
อายุ 14-17 ปี ควรนอนประมาณ 8 - 10 ชั่วโมง
อายุ 18 - 25 ปี ควรนอนประมาณ 7 - 9 ชั่วโมง
อายุ 26 - 64 ปี ควรนอนประมาณ 7 - 9 ชั่วโมง
วัย 65 ปีขึ้นไป ควรนอนประมาณ 7 - 8 ชั่วโมง
ทั้งนี้อาจบวกลบได้ 1 ชั่วโมง แต่จะให้ดีไม่ว่าวัยไหนก็ไม่ควรนอนต่ำกว่า 6 ชั่วโมง เพราะถือว่าเป็นการนอนหลับที่ไม่ได้ประสิทธิภาพ!