ไลฟ์สไตล์

2 ต.ค. วันสารทไทย รู้จักประเพณีทำบุญเดือนสิบ 4 ภาคของไทย

2 ต.ค. วันสารทไทย รู้จักประเพณีทำบุญเดือนสิบ 4 ภาคของไทย

02 ต.ค. 2567

วันสารทไทย หรือ วันสารทเดือนสิบ ซึ่งในปี 2567 ตรงกับวันที่ 2 ตุลาคม ประเพณีทำบุญเดือนสิบ จัดขึ้นเพื่อทำบุญอุทิศแก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว รู้จักที่มาที่ไปความสำคัญของประเพณีบุญที่จัดขึ้นในแต่ใน 4 ภาคของไทยงานบุญใหญ่ที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก

 

วันสารทไทย หรือ วันสารทเดือนสิบ เป็นเทศกาลทำบุญในวันสิ้นเดือน 10 หรือวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ประเพณีสารทเดือนสิบ เป็นประเพณีสำคัญที่จัดขึ้นเพื่อทำบุญอุทิศแก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว ตรงกับวันสิ้นเดือน 10 หรือ แรม 15 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งเป็นช่วงที่พืชพันธุ์ธัญญาหารกำลังออกดอกออกผล ซึ่งในปี 2567 วันสารทไทย ตรงกับวันที่ 2 ตุลาคม 

 

2 ต.ค. วันสารทไทย รู้จักประเพณีทำบุญเดือนสิบ 4 ภาคของไทย

พิธีสารทมีต้นกำเนิดมาจากพิธีของพราหมณ์ เมื่อชาวนาเก็บเกี่ยวรวงข้าวสาลีอันเป็นผลผลิตแรก จะนำมาทำเป็นข้าวมธุปายาสและสาคูเพื่อเลี้ยงพราหมณ์ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ข้าวในนา และเพื่อเป็นการเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไป ต่อมาเมื่อคนเปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนา จึงนำแนวคิดนี้มาปฏิบัติด้วย

 

2 ต.ค. วันสารทไทย รู้จักประเพณีทำบุญเดือนสิบ 4 ภาคของไทย

 

พระยาอนุมานราชธนได้กล่าวไว้ในสารานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานว่า การชิงเปรตที่ปฏิบัติกันในประเพณีสารทเดือนสิบนี้ มีลักษณะคล้ายกับการทิ้งกระจาดของจีน แต่การทิ้งกระจาดของจีนมีเป้าหมายตรงกับการตั้งเปรต-ชิงเปรตเพียงบางส่วนเท่านั้น กล่าวคือการทิ้งกระจาดของจีนเป็นการทิ้งทานให้แก่พวกผีไม่มีญาติ ส่วนการชิงเปรตของไทยเป็นการอุทิศส่วนกุศลไปให้ทั้งผี (เปรต) ที่เป็นญาติพี่น้องของตนเองและที่ไม่มีญาติด้วย นอกจากนี้วิธีการปฏิบัติในการทิ้งกระจาดและการชิงเปรตก็แตกต่างกันด้วย ผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนได้ยืนยันว่าการชิงเปรตไม่เป็นความอัปมงคลแก่ผู้ชิงเปรตแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามกลับถือว่าเป็นการทำบุญด้วยซ้ำไป เพราะชื่อว่าบุตรหลานของเปรตตนใดชิงได้ เปรตตนนั้นย่อมได้รับส่วนนั้น เพียงแต่ว่าผู้ชิงต้องระมัดระวังในการที่อาหารหรือขนมที่ตั้งเปรตอาจตกหล่นลงพื้น ซึ่งจะทำให้เกิดความสกปรกและเป็นอันตรายต่อสุขภาพเท่านั้น

 

2 ต.ค. วันสารทไทย รู้จักประเพณีทำบุญเดือนสิบ 4 ภาคของไทย

ประเพณี วันสารทไทย หรือ วันสารทเดือนสิบแต่ละท้องที่ในแต่ละภาค

 

2 ต.ค. วันสารทไทย รู้จักประเพณีทำบุญเดือนสิบ 4 ภาคของไทย

 

ภาคใต้ : งานบุญประเพณีของคนภาคใต้โดยเฉพาะชาวนครศรีธรรมราชที่ได้รับอิทธิพลด้านความเชื่อมาจากทางศาสนาพราหมณ์ โดยมีการผสมผสานกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนาโดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งเชื่อว่าได้รับการปล่อยตัวมาจากภูมินรกที่ตนต้องจองจำอยู่เนื่องจากผลกรรมที่ตนได้เคยก่อไว้ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยจะเริ่มปล่อยตัวจากภูมินรกในทุกวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 เพื่อมายังโลกมนุษย์ มีจุดประสงค์เพื่อให้มาขอส่วนบุญส่วนกุศลจากลูกหลานญาติพี่น้องที่ได้เตรียมการอุทิศไว้ให้ เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ล่วงลับ หลังจากนั้นก็จะกลับไปยังภูมินรก ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10

 

 

 

2 ต.ค. วันสารทไทย รู้จักประเพณีทำบุญเดือนสิบ 4 ภาคของไทย

ภาคเหนือ : ภาคเหนือเรียกว่าประเพณีตานก๋วยสลาก หรือประเพณีทานสลากภัต เป็นพิธีที่จัดขึ้นเพื่อการอุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว หรือถวายสังฆทานแก่พระสงฆ์โดยการจัดเตรียมก๋วย (หรือชะลอมขนาดเล็ก) ที่สานด้วยไม้ไผ่บรรจุอาหารแห้ง อาหารคาวหวาน เครื่องใช้ที่จำเป็น 

 

 

2 ต.ค. วันสารทไทย รู้จักประเพณีทำบุญเดือนสิบ 4 ภาคของไทย

 

ภาคกลาง: การทำบุญเดือน 10 ของภาคกลาง เรียกว่าวันสารทไทย ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ประมาณปลายเดือนกันยายน–ตุลาคม มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ตามที่ปรากฏหลักฐานในหนังสือของนางนพมาศเนื่องจากศาสนาพราหมณ์เผยแผ่เข้ามาในประเทศไทย คนไทยจึงรับประเพณีนี้มาจากศาสนาพราหมณ์ โดยภาคกลางจะมีขนม 4 ชนิดที่เกี่ยวข้องกับประเพณีวันสารท คือ ขนมข้าวยาคู ข้าวมธุปายาส ขนมข้าวทิพย์ และขนมกระยาสารท ซึ่งเป็นขนมที่นิยมทำบุญในวันสารทมาแต่โบราณ

 

 

2 ต.ค. วันสารทไทย รู้จักประเพณีทำบุญเดือนสิบ 4 ภาคของไทย

 

ภาคอีสาน:  “บุญข้าวสาก” คือบุญเดือน 10 เป็นฮีต 1 ในฮีต 12 ของชาวอีสาน นิยมทำในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 นอกจากอาหารคาวหวานต่างๆ แล้ว ชาวบ้านจะเตรียมข้าวเม่า, ข้าวพอง, ข้าวตอก, น้ำอ้อย, ถั่ว, งา และมะพร้าว มาทำเป็นของหวาน เรียกว่า “ข้าวสาก” (ที่ภาคกลางเรียกว่า “ข้าวกระยาสารท” หรือกระยาสารท) ส่งให้ญาติพี่น้องก่อนวันทำบุญ และอีกส่วนก็กันไว้สำหรับไปทำบุญ