11 ธันวาคม วันสมเด็จกรมพระปรมานุชิต ผู้ทรงเป็นปราชญ์ทั้งคดีโลกและคดีธรรม
วันที่ 11 ธันวาคม ของทุกปีเป็น “วันกรมปรมานุชิตชิโนรส” หรือวันคล้ายวันประสูติสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส “มหาสังฆปรินายก ปธานาธิบดีแห่งสงฆ์” ผู้ทรงเป็นปราชญ์ทั้งคดีโลกและคดีธรรมได้ทรงพระนิพนธ์ ลิลิตตะเลงพ่าย เวสสันดรชาดก และวรรณกรรมอีกหลายเล่ม
วันที่ ๑๑ ธันวาคม ของทุกปี เป็นที่ทราบกันดีในหมู่นักปราชญ์ราชบัณฑิต นักศึกษา และนักเรียนว่าเป็น "วันกรมปรมานุชิตชิโนรส" หรือวันคล้ายวันประสูติสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส "มหาสังฆปรินายก ปธานาธิบดีแห่งสงฆ์" ผู้ทรงเป็นปราชญ์ทั้งคดีโลกและคดีธรรม ได้ทรงพระนิพนธ์ ปฐมสมโพธิกถา ลิลิตตะเลงพ่าย สมุทโฆษคำฉันท์ เวสสันดรชาดก และวรรณกรรมที่เลื่องลืออีกหลายเล่ม ที่นับถือกันว่าเป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาของไทยในด้านพระพุทธศาสนาและวรรคดี
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๒๘ ในพระบาทสมเด็จพระ พุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาจุ้ย ณ วันเสาร์ เดือนอ้าย ขั้น ๕ ค่ำ ปีจอ จุลศักราช ๑๑๕๒ ตรงกับวันที่ ๑๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๓๓๓ มีพระนามเดิมว่า "พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวาสุกรี" เมื่อประสูตินั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระชนมายุ ๕๓ พรรษา ครองราชสมบัติมาแล้ว ๘ ปี
ครั้นพระองค์เจ้าวาสุกรีทรงเจริญพระชันษาได้ ๑๒ ก็ทรงละฆราวาสวิสัยออกผนวชเป็นสามเณรเมื่อปีจอ พุทธศักราช ๒๓๔๕ โดยผนวชเป็นหางนาค ณ วัดพระศรีสรเพ็ชญ์ (วัดพระศรีรัตนศาสดาราม) ครั้นผนวชแล้วจึงเสด็จไปประทับอยู่ ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ในระหว่างที่ผนวชเป็นสามเณรอยู่นั้น ได้ทรงศึกษาในสำนักสมเด็จพระพนรัตน วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ทรงศึกษาอักษรทั้งไทย ขอม ภาษามคธ (บาลี) โบราณคดี ตลอดจนวิธีทำเลขยันต์ต่างๆ ตามคตินิยมในสมัยนั้น ครั้นทรงผนวชเป็นพระภิกษุได้ ๓ พรรษา ลุปีพุทธศักราช ๒๓๕๗ สมเด็จพระพนรัตนถึงแก่มรณภาพในระหว่างพรรษา ยังไม่ทันจะได้โปรดให้พระเถระรูปใดเป็นอธิบดีสงฆ์วัดพระเชตุพนฯครั้นออกพรรษาแล้ว ในช่วงเวลาพระกฐิน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จไปพระราชทานพระกฐินถึงวัดพระเชตุพนฯ จึงทรงพระกรุณาโปรดตั้งให้สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรสเป็นพระราชาคณะด้วย
สมเด็จฯกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงรับกรมครั้งแรกในรัชกาลที่ ๒ เป็นกรมหมื่นนุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัติยวงศ์ เมื่อราวปีชวด พุทธศักราช ๒๓๕๙ และในขณะที่ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่นอยู่นี้ ได้ทรงทำหน้าที่เป็นพระอาจารย์ของเจ้านายหลายพระองค์ อาทิ พระบาทสมเด็จพระกรมหมื่นอยู่นี้ ได้ทรงทำหน้าที่เป็นพระอาจารย์ของเจ้านายหลายพระองค์ โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงผนวชเป็นพระภิกษุอยู่นั้น ทรงเคารพเลื่อมใสในสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรสเป็นอย่างยิ่งแม้ว่าจะมีพระชนมายุแก่กว่าพระองคเพียง ๑๔ พรรษาก็ตาม แต่ก็ทรงตั้งอยู่ในฐานะเป็นพระปิตุลา สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงตั้งพระองค์อยู่ในฐานะเป็นครุฐานียบุคคลในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างสูง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงลาสิกขา เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม พุทธศักราช ๒๓๙๔ แล้ว ก็ได้ทรงสถาปนา สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ขึ้นเป็น "กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส"
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสนั้น ทรงได้รับคำสดุดีว่าเป็น จินตกวีไทยอย่างยอดพระองค์หนี่ง งานพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรสมีทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง ที่เป็นร้อยแก้ว เช่น พระปฐมสมโพธิ พระธรรมเทศนาพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เป็นต้น ส่วนใหญ่เป็นแล้วเป็นร้อยกรองที่ทรงเชี่ยวชาญและทรงถนัดมากคือฉันท์ เช่น กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ สรรพสิทธิ์คำฉันท์ สมุทรโฆษคำฉันท์ ฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมช้างพัง โดยเฉพาะที่เป็นแม่บท ทรงแต่งตำราฉันท์มาตราพฤติและวรรณพฤติในจำนวนพระนิพนธ์ทั้งหมด เรื่องที่ได้รับการยกย่องทางร้อยกรองว่าดีเยี่ยมที่สุด ได้แก่ ลิลิตตะเลงพ่าย ซึ่งเป็นวรรณคดีที่ดีเลิศทางกระบวนกลอนลิลิตอีกเรื่องหนึ่งด้วย ส่วนพระนิพนธ์ร้อยแก้ว ที่ยอดเยี่ยมที่สุดน่าจะได้แก่ เรื่อง พระปฐมสมโพธิกถา ซึ่งผู้อ่านจะได้อรรถรสทั้งภาษาและวรรณคดี นอกเหนือไปจากเนื้อหาที่เป็นพระพุทธประวัติอีกด้วย
พระราชนิพนธ์บทหนึ่งของพระองค์ที่แสดงถึงลักษณะการประพันธ์คำประพันธ์ที่ทรงใช้ในการนิพนธ์ เรียกว่า ลิลิต เป็นลิลิตสุภาพ ประกอบด้วยร่ายสุภาพและโคลงสุภาพ โคลงที่ใช้มีทั้ง โคลง ๒ โคลง ๓ และโคลง ๔ ตอนท้ายเป็นโคลงกระทู้ซึ่งเป็นลักษณะคำประพันธ์ที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสทรงนิยมใช้ในการนิพนธ์ปิดท้ายวรรณคดีที่ทรงนิพนธ์เกือบทุกเรื่อง สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงนิพนธ์วรรณคดีเรื่องนี้ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวในโอกาสที่ปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน เมื่อพุทธศักราช ๒๓๗๕ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาของประชาชน โดยรวบรวมสรรพวิชาการสาขาต่างๆ จารึกบนแผ่นศิลาในวัดพระเชตุพน ดังที่ทรงระบุไว้ในโคลงท้ายเรื่อง ดังนี้
บรรจงเสาวเลขแล้ว หลายคุง ขวบฤา
ปางปิ่นธเรศอำรุง โลกเลี้ยง
ทำนุกเชตุพนผดุง เผดิมตึก เต็มเอย
อาวาสอาจเพ่งเพี้ยง แผ่นฟ้ามาเสมอ
ที่มา: สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, สำนักงาน. ๒๐๐ ปี สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส. กรุงเทพฯ,