'แอปขอความช่วยเหลือ' แก้ปัญหาถูกล่วงละเมิดทางเพศ ในครอบครัว โรงเรียน ชุมชน
แอปพลิเคชัน "BeBrave" วัตกรรมช่วยสังคมปลอดภัย แก้ปัญหาการถูกล่วงละเมิดทางเพศจากคนในครอบครัว โรงเรียน ชุมชน
แอปพลิเคชัน "BeBrave" เป็น "แอปขอความช่วยเหลือ" ลิ้งค์ตรงหาเจ้าหน้าที่รัฐ 4 หน่วยงาน ได้แก่ สายด่วนกรมสอบสวนคดีพิเศษ ศูนย์คุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาซึ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศ มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก และศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 ให้เข้าช่วยเหลือกรณีมีเหตุถูกล่วงละเมิดทางเพศ จากคนในครอบครัว โรงเรียน ชุมชน
"แอปขอความช่วยเหลือ" ถูกพัฒนาขึ้นโดย "รศ.ดร.สุณีย์ กัลยะจิตร" คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้โครงการวิจัย เรื่อง "การพัฒนาเครื่องมือที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการกระทำความผิดทางเพศในครอบครัว โรงเรียน ชุมชน และแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ" ที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก "สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)"
"รศ.ดร.สุณีย์" ในฐานะหัวหน้าแผนงานโครงการฯ ระบุว่า ผลสำเร็จจากงานวิจัย "แอปขอความช่วยเหลือ" นำไปสู่การต่อยอดนวัตกรรมการพัฒนาเครื่องมือที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการกระทำความผิดทางเพศในครอบครัว โรงเรียน และชุมชน ไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพในการนำ "แอปขอความช่วยเหลือ" การป้องกันการกระทำความผิดทางเพศในสถาบันอุดมศึกษา ในส่วนของแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดำเนินคดีสำหรับผู้กระทำความผิดและการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ
ในอนาคต "แอปพลิเคชันขอความช่วย" จะเชื่อมโยงกับหน่วยงานรัฐโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง หรือกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อผนึกกำลังกันป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและครบวงจร ด้วยแอปพลิเคชันแก้ปัญหาการถูกล่วงละเมิดทางเพศ BeBrave ระบบช่วยเหลือฉุกเฉินในยามคับขันของผู้ที่ต้องเป็นเหยื่อเพื่อขอความช่วยเหลือด่วน Emergency SOS เพียงแค่กดปุ่มเดียวระบบจะส่งข้อความฉุกเฉินและแชร์โลเคชั่นไปทาง SMS และส่งสัญญาณโทรศัพท์เรียกเข้ากลับไปยังผู้ขอความช่วยเหลือได้ภายใน 1 นาที
ทั้งนี้ การสร้างความรู้ความเข้าใจครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ปกครองเป็นแบบอย่างที่ดี สอนให้ลูกรู้จักปกป้องตัวเอง ให้คำแนะนำปรึกษาเรื่องเพศอย่างเหมาะสม ส่วนที่โรงเรียนเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมสอดส่องพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและมีบทลงโทษที่ชัดเจน
ชุมชนต้องช่วยกันสอดส่องดูแลแหล่งมั่วสุม ที่เปลี่ยว หามาตรการป้องกัน เช่น ติดตั้งกล้อง CCTV ไฟฟ้าส่องสว่าง เป็นต้น เพื่อลดปัญหาการก่อเหตุอาชญากรรมทางเพศ การบูรณาการสร้างเครือข่ายเพื่อช่วยป้องกันปัญหา ระหว่างครอบครัว โรงเรียน และชุมชน
ขณะเดียวกัน ข้อกฎหมายในปัจจุบันที่จะต้องสอดคล้องกับแนวทางการแก้ปัญหาเพื่อยับยั้งการก่อเหตุคดีทางเพศในอนาคต