ไลฟ์สไตล์

‘รพ.ราชวิถี’ แนะ 10 ทริค ตรวจสอบคุณภาพ ‘อาหารปลอดภัย’

‘รพ.ราชวิถี’ แนะ 10 ทริค ตรวจสอบคุณภาพ ‘อาหารปลอดภัย’

16 ก.พ. 2566

เพื่อสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้กับประชาชน- ยกระดับอาหารไทย กรมการแพทย์เดินหน้าโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย ‘รพ.ราชวิถี’ แนะ 10 ทริค ตรวจสอบคุณภาพ ‘อาหารปลอดภัย’

อาหารไทย เป็น 1ใน 5 ซอฟต์เพาเวอร์ของประเทศไทย แต่จะทำอย่างไรคนไทยถึงจะได้รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย 

 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดี กรมการแพทย์ เผยว่า หลักสำคัญในการเลือกรับประทานอาหารนอกเหนือจากรสชาติอาหารแล้ว สิ่งที่ต้องคำนึงและพิจารณาควบคู่ไปด้วย คือ คุณค่าตามหลักโภชนาการ คุณภาพ ความสะอาดและปราศจากสารปนเปื้อน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข เห็นถึงความสำคัญของการมีสุขภาพที่ดี ที่ต้องเริ่มตั้งแต่การบริโภคอาหารที่ปลอดภัย จึงได้จัดทำโครงการ “โรงพยาบาลอาหารปลอดภัย” ขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วย ญาติ และเจ้าหน้าที่ได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัย เป็นจุดเริ่มต้นของการรณรงค์ให้ประชาชนรับประทานอาหารปลอดสารเคมี

 

นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี ระบุว่า โรงพยาบาลราชวิถี เริ่มดำเนินการโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)เมื่อปี พ.ศ.2562 โดยมีการจัดซื้อผัก และผลไม้ปลอดภัย ทั้งประเภทเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัย (GAP) เกษตรอินทรีย์การรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS) และเกษตรคัดสรรรับรองความปลอดภัย เป็นการจัดซื้อผัก และผลไม้ปลอดภัยโดยตรงกับกลุ่มเกษตรกรที่เป็นวิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์การเกษตร มีการจัดซื้อเนื้อสัตว์บกปลอดภัย ประเภทมาตรฐาน GMP และมาตรฐาน HACCP และมาตรฐานฮาลาล มีการจัดซื้อไข่อนามัย มาตรฐานสินค้าเกษตร มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน มาตรฐาน GMP และมาตรฐาน HACCP การจัดซื้อข้าวสารปลอดภัย มาตรฐานโรงงานสีข้าวที่ได้รับรองมาตรฐาน GMP และมาตรฐาน HACCP

 

แนะ 10 ทริคตรวจสอบคุณภาพ ‘อาหารปลอดภัย’

 

นพ.ไพโรจน์ เครือกาญจนา รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี และในฐานะของประธานคณะกรรมการอาหารปลอดภัยโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเสริมว่า โรงพยาบาลราชวิถี มีระบบการตรวจสอบคุณภาพอาหารปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพ และสามารถเผยแพร่ เป็นต้นแบบให้โรงพยาบาลอื่นๆ ได้แก่ 

 

1.ทดสอบโคลิฟอร์มในน้ำดื่ม - น้ำใช้ 

2.ทดสอบโคลิฟอร์มอาหารทางสายให้อาหาร และมือผู้เกี่ยวข้อง 

3.ทดสอบโคลิฟอร์มอาหารสุกพร้อมรับประทาน และมือผู้เกี่ยวข้อง 

4.ทดสอบ E.coli ในผลไม้สดพร้อมรับประทาน และโคลิฟอร์มมือผู้เกี่ยวข้อง 

5.ทดสอบโคลิฟอร์มผักสดพร้อมรับประทาน และมือผู้เกี่ยวข้อง 6.ทดสอบยาฆ่าแมลงตกค้างในผัก- ผลไม้ การตรวจสอบคุณภาพผัก-ผลไม้ ได้สุ่มตรวจหาการปนเปื้อนยาฆ่าแมลงในผัก-ผลไม้ปลอดภัยเบื้องต้น ด้วยชุดตรวจยาฆ่าแมลงในผักผลไม้ GPO-TM Kit เป็นประจำทุกเดือน ใช้ตรวจยาฆ่าแมลงได้ 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต กลุ่มคาร์บาเมต กลุ่มออร์กาโนคลอรีน และกลุ่มไพรีทรอยด์ 

7.ทดสอบสารบอแรกซ์ตกค้างในวัตถุดิบอาหาร

8.ทดสอบสารฟอกขาวตกค้างในวัตถุดิบอาหาร 

9.ทดสอบสารฟอร์มาลีนตกค้างในวัตถุดิบอาหารสดและอาหารทะเล 

10.ทดสอบเชื้อโคลิฟอร์มในภาชนะของผู้ป่วย และมือพนักงานบริการ

 

ขอบคุณที่มา:รพ.ราชวิถี กรมการแพทย์