ไลฟ์สไตล์

สุดปัง แบรนด์ ‘ร๊อคก้า’ สุราพื้นบ้าน ยอดจองถึงสิ้นเดือนเดือนก.ค. 66

สุดปัง แบรนด์ ‘ร๊อคก้า’ สุราพื้นบ้าน ยอดจองถึงสิ้นเดือนเดือนก.ค. 66

11 มิ.ย. 2566

คึกคัก ‘ร๊อคก้า’ แบรนด์สุราพื้นบ้าน เริ่มจากผลิตล็อตแรกแจกให้ชาวบ้านชิมคนละขวด ดื่มแล้วเมาพอรุ่งเช้าไม่ปวดหัว กลายเป็นจุดขาย มียอดสั่งจองถึงสิ้นเดือนก.ค. 66 หวังรัฐบาลใหม่แก้กฏหมายเปิดช่องให้ผลิตเหล้าสีบ้าง?

เอฟเฟค ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ ว่าที่นายกฯ คนที่ 30 ได้ปลุกกระแสสุราพื้นบ้าน ส่งผลให้ปัจจุบัน สุราพื้นบ้าน หลากหลายยี่ห้อในแต่ละจังหวัด ขาดตลาด ขณะที่บางรายมียอดสั่งจองไปถึงสิ้นเดือนก.ค. 2566 ก็มี อย่าง Rocka หรือ 'ร๊อคก้า' เป็นอีกแบรนด์ที่กำลังเป็นที่จับตามอง

ทำความรู้จัก ‘ร๊อคก้า’ แบรนด์สุราพื้นบ้านจ.สระบุรี

Rocka ‘ร๊อคก้า’ เป็นสุราพื้นบ้าน หรือสุราชุมชน ที่ถูกผลิตขึ้นภายในโรงผลิตที่ใช้ขื่อว่าภูเถา ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.บ้านโปร่ง อ.หนองโดน จ.สระบุรี โดยเจ้าของคือ ดร.ศุภพงศ์ ภูวพัฒนพันธุ์ อดีตเคยเป็นอาจารย์ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.) และผู้สื่อข่าวได้มีโอกาสเยี่ยมชมโรงเหล้าภูเถา ได้พูดคุยถึงความเป็นมาของ Rocka สุราพื้นบ้าน

ดร.ศุภพงศ์ ภูวพัฒนพันธุ์ เจ้าของแบรนด์ ร๊อคก้า สุราพื้นบ้าน จ.สระบุรี
 

ดร.ศุภพงศ์ ย้อนที่มา แบรนด์ ‘ร๊อคก้า’ ว่า เป็นการผลิตขึ้นมาช่วยชาวบ้านปลูกพืชเสริมจากข้าว โดยแนะนำส่งสริมสอนให้ชาวบ้านปลูกองุ่น เพื่อมีรายได้เสริมจากการทำนา แต่พอทำแล้วมีปัญหา เนื่องจากองุ่นบ้านเราเวลาหน้าฝน ถ้าฝนตกมากองุ่นจะแตกและเน่าเสียหาย จึงเกิดความคิดทำเป็นเหล้าองุ่น นำองุ่นที่แตกแทนที่จะทิ้งนำมาทำเป็นเหล้า

 

จุดขาย ‘ร๊อคก้า’ ดื่มแล้วเมาพอรุ่งเช้าไม่ปวดหัว

“เมื่อผลิตร๊อคก้าขึ้นมาล็อตแรก ได้แจกให้ชาวบ้านชิมคนละขวด เวลาดื่มแล้วเมาแต่พอรุ่งเช้ามาจะไม่ปวดหัว ไม่แฮงก์ นี่คือจุดขายของแบรนด์ร๊อคก้า”

โรงงานภูเถา ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.บ้านโปร่ง อ.หนองโดน จ.สระบุรี  แหล่งผลิตสุราพื้นบ้าน แบรนด์ร๊อคก้า

 

ร๊อคก้า แบรนด์สุราพื้นบ้าน เจ้าของกิจการ ตั้งเป็นโรงงานขึ้นมา ก็หวังว่าถ้าชาวบ้านปลูกองุ่นแล้ว องุ่นไม่มีตลาดรองรับ ก็จะรับซื้อมาทำเป็นเหล้าองุ่น ส่งเสริมช่วยชาวบ้าน 

 

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมี 'ร๊อคก้า’ ทำจาก 'ข้าว' ด้วย เป็นวอสก้าจากข้าว ทำขึ้นมาเสริม เนื่องจากว่าที่นี่ชาวบ้านมีอาชีพทำนา และได้บอกกับชาวนาว่าถ้าข้าวราคาตกต่ำ ให้นำข้าวมาขายเพื่อทำวอสก้าจากข้าว และให้ชาวนาเอาไปขายมีหลายคนสนใจ แต่ยังไม่มีใครทำ

 

จุดเด่นเหล้าองุ่น - ข้าว

ส่วนจุดเด่นเหล้าองุ่นกับข้าว มี 2 ตัว คือ 

  1. เหล้าองุ่น ในเมืองไทยที่ทำเป็นเหล้าแบบนี้มีที่นี่ที่เดียว 
  2. ข้าว ที่ทำขึ้นมาเป็นวอสก้า ที่ดีที่สุดคือข้าวหอมมะลิ เทียบกับวอสก้าข้าวของญี่ปุ่นข้าวหอมมะลิสู้ได้สบายมาก 

 

นอกจากนี้ ช่วงนี้มีการทดลองทำเหล้าจาก มันเทศ,สับปะรด และมีคนมาขอให้ทำเหล้าจากมะม่วง เนื่องจากว่าที่รัฐบาลใหม่ส่งเสริมสุราพื้นล้าน หรือสุราชุมชน ชาวบ้านจึงสนใจมากขึ้น

 

"เรื่องคุณภาพเป็นที่ตอบรับของคนรุ่นใหม่ เพราะราคาไม่ได้แพง ต้นทุนไม่สูง คุณภาพเทียบกับเหล้านอกที่นำเข้าได้ แต่ว่าต้นทุนหรือว่าราคาขายไม่ถึงครึ่งของสุราต่างประเทศ ‘ร๊อคก้า’ เน้นคุณภาพ ปกติวางขายในซุปเปอร์มาร์เก็ต ฟู๊ดแลนด์ในกรุงเทพฯ" ดร.ศุภพงศ์ เล่าด้วยรอยยิ้ม

สุดปัง แบรนด์ ‘ร๊อคก้า’ สุราพื้นบ้าน ยอดจองถึงสิ้นเดือนเดือนก.ค. 66

 

แต่ในมุมมองของ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รายนี้  เสนอว่ารัฐบาลใหม่น่าจะปรับปรุงแก้ไขกฏหมายห้ามโฆษณาเหล้า หรือ พ.ร.บ.การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะมีปัญหาเรื่องการตลาด เนื่องจากเหล้าโฆษณาไม่ได้ มีบริษัทใหญ่ๆ ที่โฆษณาได้ เนื่องจากบริษัทใหญ่อาศัยแบรนด์โฆษณาเบียร์และเหล้า แต่สุราพื้นบ้านโฆษณาไม่ได้

ดร.ศุภพงศ์ ภูวพัฒนพันธุ์ เจ้าของแบรนด์ ร๊อคก้าสุราพื้นบ้าน

 

อีกทั้งกฎหมายเข้มบังคับให้กำลังแรงม้าไม่เกิน 5 แรงม้า และพึ่งมาปรับปรุงไม่นาน ขยายได้ถึง 50 แต่ถ้าจะให้สุราพื้นบ้านอยู่รอด น่าจะให้ผลิตเหล้าสีบ้าง หรือผสมนู้นนี่ได้ เพราะถ้าผลิตเหล้าสีได้ จะทำให้ยอดขายคล่องตัวขึ้น

ร๊อคก้า สุราพื้นบ้านพร้อมจัดส่งลูกค้า

 

“การไม่ปลดล็อกห้ามขายช่วง 14.00-17.00 น. มีผลต่อยอดขายอย่างแน่นอน แต่บังคับเวลาบ้างก็ดี อย่าให้เข้มเกินไป ขึ้นอยู่กับนโยบาย แต่อยากฝากถึงรัฐบาลใหม่ ถ้าอยากจะช่วยเหลือพวกสุราพื้นบ้าน นอกจากผลิตเหล้าขาวแล้ว ให้ผลิตเหล้าสีได้ด้วยจะดีมาก” ดร.ศุภพงศ์ ฝากถึงรัฐบาลใหม่

 

สรุป 'ร๊อคก้า’ Rocka แบรนด์สุราพื้นบ้าน ทำจากองุ่น เริ่มจากการผลิตล็อตแรกเพื่อแจกฟรีให้ชาวบ้านสระบุรี ชิมคนละขวด ดื่มแล้วเมา พอรุ่งเช้าไม่ปวดหัว กลายเป็นจุดขาย มียอดสั่งจองถึงสิ้นเดือนก.ค. 2566 หวังรัฐบาลใหม่แก้กฏหมายเปิดช่องให้ผลิตเหล้าสีบ้าง?

 

โดยสมยศ พิมมะศร ผู้สื่อข่าวประจำจ.สระบุรี