สรุปคือ! พริกน้ำปลา หรือ น้ำปลาพริก เรียกคำใดนำหน้าก่อนกันแน่?
เคยสงสัยกันไหมว่า พริกน้ำปลา หรือ น้ำปลาพริก เรียกคำใดนำหน้าก่อนกันแน่ ทั้งๆที่มีสูตรการทำเหมือนกัน แต่ทำไมกลับเรียกชื่อต่างกัน?
หนึ่งเครื่องชูโรงอาหารชั้นดี “น้ำปลาพริก-พริกน้ำปลา” ที่มักจะเสิร์ฟคู่กับอาหารตามสั่งนานาชนิด กินกับข้าวสวยร้อน ๆ ช่วยเสริมให้รสชาติดียิ่งขึ้น เพิ่มความเค็มเผ็ดให้อาหาร ถูกปากคนไทยยู่คู่แทบทุกเมนูอาหาร ว่าแต่ เรียกคำใดนำหน้าก่อนกันแน่? น้ำปลาพริก-พริกน้ำปลา
ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับปีพุทธศักราช 2554 ไม่มีคำว่า "น้ำปลาพริก" หรือ "พริกน้ำปลา" บัญญัติเอาไว้ อย่างไรก็ตามความหมายของคำว่า "น้ำปลา" และ "พริก"
- น้ำปลา คือ น้ำสำหรับปรุงอาหารให้มีรสเค็ม ทำจากปลา หรือหมักจากเกลือ
- พริก คือ ชื่อไม้ล้มลุกสกุล Capsicum วงศ์ Solanaceae ผลมีรสเผ็ด มีอยู่หลายชนิด เช่น พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า ฯลฯ
ด้วยเหตุผลที่ว่าไม่มีคำใดคำหนึ่งบัญญัติอย่างชัดเจน จึงทำให้มีการเรียกที่แตกต่างกัน หากแต่เดิมใช้คำว่า “น้ำปลา” เป็นคำหลัก และมีคำว่า “พริก” เป็นคำนามขยาย เพราะน้ำปลามีปริมาณมากกว่า และวิธีการทำคือใส่น้ำปลาลงในพริกเพื่อช่วยเสริมให้ความเค็มของน้ำปลามีความเผ็ดเล็กน้อย จึงใช้เรียกว่า “น้ำปลาพริก” นั่นเอง
ส่วนข้อมูลจาก ดร.อนันต์ เหล่าเลิศวรกุล กรรมการวิชาการของสำนักราชบัณฑิตยสภา ได้ระบุไว้ว่า 'น้ำปลาพริก' คือคำที่ใช้มาแต่เดิม 'น้ำปลา' เป็นคำหลัก ให้ความหมายว่า เค็ม ส่วน 'พริก' เป็นคำนามขยาย พริกช่วยเสริมรสเค็มให้เจือเผ็ด เวลาเติมรสอาหารด้วยน้ำปลาพริกอย่างเติมในข้าวผัดเพราะต้องการความเค็มนำ แต่ไม่ต้องการเค็มโดด ๆ จึงใช้เป็น 'น้ำปลาพริก' ทว่าใครจะเรียกพริกน้ำปลาก็ไม่ผิด เพราะโดยรวมแล้วก็สามารถสื่อความหมายให้คนฟังเข้าใจได้เช่นกัน ทั้งยังอร่อยเหมือนกันอีกด้วย