ไขข้อสงสัย! กินยาพร้อมนมได้ไหม? ถ้ากินแล้วจะส่งผลอะไรกับร่างกาย
ไขข้อสงสัยสรุปแล้ว! กินยาพร้อมนมได้ไหม? ถ้ากินพร้อมกันแล้วยาประสิทธิภาพจะลดลงไหม แล้วส่งผลอะไรกับร่างกาย
กินยากับนมแล้วไม่ได้ผลจริงหรือ? คงเป็นคำถามที่ใครหลายคนสงสัยในยามเจ็บป่วยแล้วต้องกินยา บางคนคิดว่าเป็นความจริง บางคนคิดว่าเป็นเพียงความเชื่อที่ส่งต่อกันมา แต่ความจริงแล้วนมสามารถส่งผลต่อประสิทธิภาพของยาได้ แต่ไม่เสมอไป
เครื่องดื่มประเภทนมสามารถส่งผลต่อการทำงานของยาได้จริง แต่ไม่ใช่ยาทั้งหมด โดยยาที่มักมีประสิทธิภาพลดลงเมื่อกินคู่กับนม คือ กลุ่มยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่ายาฆ่าเชื้อ ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาเมื่อร่างกายเกิดการติดเชื้อ อย่างโรคทางเพศสัมพันธ์ การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ อาการท้องเสียที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
ส่วนสาเหตุที่การกินยากับนมส่งผลให้ยาปฏิชีวนะไม่ได้ผลมีสาเหตุมาจากสารอาหารในนมที่ทำปฏิกิริยากับตัวยา นอกจากยาปฏิชีวนะแล้ว การกินยากลุ่มบิสฟอสโฟเนท (Bisphosphonate) ที่เป็นยารักษาโรคกระดูกพรุน ร่วมกับนมก็อาจลดประสิทธิภาพการดูดซึมของยาได้เช่นเดียวกัน รวมไปถึงอาจมียาประเภทอื่นที่เมื่อกินกับนมแล้วจะออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม นอกจากนมวัวแล้ว การกินยากับนมชนิดอื่น เช่น นมถั่วเหลือง นมอัลมอนด์ นมแพะ นมแม่ ผลิตภัณฑ์จากนมวัวอย่างโยเกิร์ต นมเปรี้ยว หรือชีสก็อาจส่งผลต่อการทำงานยาได้เช่นเดียวกัน แต่อาจส่งผลแตกต่างกันตามยาที่ใช้และสารอาหารในนมประเภทนั้นๆ
หากจะดื่มนมหรือบริโภคผลิตภัณฑ์นม อาทิ เนย, ชีส, โยเกิร์ต จะต้องเว้นระยะเวลา 2 ชั่วโมงทั้งก่อนและหลังรับประทานยา เพื่อป้องกันไม่ให้ยาและแคลเซียมทำปฏิกิริยากันในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็ก ซึ่งหลังจาก 2 ชั่วโมงไปแล้ว ถือเป็นเวลามากพอที่จะไม่ทำให้ยาเคลื่อนที่ไปพบกันในระบบทางเดินอาหาร