รู้จัก "ผักลืมผัว" ผักพื้นบ้าน ถ้ากินแล้วจะลืมผัวไหม? ทำไมต้องลืมผัว?
รู้จัก "ผักลืมผัว" พืชผักพื้นบ้านรับประทานได้ทั้งต้น กินคู่กับน้ำพริก พร้อมไขข้อสงสัย! ทำไมกินแล้วต้องลืมผัว?
ผักลืมผัว Lobelia thorelii E. Wimm. (Campanulaceae) เป็นพืชล้มลุกที่ออกดอกช่วงฤดูเกี่ยวข้าว พบขึ้นบ่อยตามคันนา หัวไร่ปลายนา ในพื้นที่ที่ดินค่อนข้างเป็นดินทราย เวลาออกดอกจะเห็นเป็นผืนสีม่วงสวยงาม กิ่งก้านผักลืมผัวจะแผ่จากโคนต้นแนบไปกับผิวดินทุกทิศทาง การเก็บผักลืมผัวชาวบ้านมีวิธีประหยัดเวลา คือหาโคนต้นให้พบแล้วดึงขึ้นมาจากผืนทราย จะทำให้ได้ทั้งต้นพร้อมกิ่งก้าน
ผักลืมผัวใช้รับประทานสดกับน้ำพริกทุกชนิด เช่น น้ำพริกปลาร้าบองหรือน้ำพริกจรั๊วะโดงแถบอีสานใต้ รับประทานได้ทั้งต้น นัยว่ารับประทานแล้วอร่อยจนภรรยาลืมเก็บผักเผื่อไว้ให้สามี ไม่ใช่รับประทานแล้วลืมสามี ซึ่งถ้าเป็นจริงอาจสูญพันธุ์ได้
ปัจจุบันผักชนิดนี้หายากขึ้นเนื่องจากเกษตรกรปัจจุบันนิยมใช้ยาฆ่าหญ้า ซึ่งมีผลต่อผักลืมผัวเช่นเดียวกัน ผักชนิดนี้มีการกระจายพันธุ์แคบ พบที่ไทยและลาวเท่านั้น กัมพูชาอาจพบได้แต่ยังไม่มีรายงาน
คำระบุชนิด “thorelii” ตั้งให้เป็นเกียรติแก่นักพฤกษศาสตร์ชาวฝรั่งเศส Clovis Thorel ซึ่งได้ล่องเรือทำการสำรวจแถบลุ่มแม่น้ำมูลและแม่น้ำโขงในช่วงปี ค.ศ. 1866-1868
ผักลืมผัว เป็นไม้ล้มลุกที่มีอายุแค่ปีเดียว กิ่งก้านแผ่แนบผิวดินรอบโคนต้น ใบเดี่ยว เรียงเวียน ใบที่โคนมักกลม ใบถัดไปรูปไข่ ปลายแหลมถึงมนกลม ขอบหยักมนถึงหยักซี่ฟันไม่เป็นระเบียบ โคนรูปลิ่ม ตัด หรือรูปหัวใจ เส้นใบนูนเด่นชัดทางด้านล่าง ก้านใบสั้น
ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ หรือออกเป็นช่อที่ปลายยอด ก้านดอกเรียวยาว กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปปากเปิด (bilabiate) รังไข่และผลมีขน เมล็ดรูปทรงสามเหลี่ยม
ที่มา : หอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช